xs
xsm
sm
md
lg

การเดินทางของน้ำมัน...บล.ฟิิลลิป

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


น้ำมันถือเป็นหนึ่งเชื้อเพลิงหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยน้ำมันที่เราใช้ทุกวันนี้ก็ผ่านกระบวนการกลั่นเพื่อให้ได้คุณสมบัติที่ตรงต่อการใช้งานในแต่ละประเภท สำหรับประเทศไทยเองมีโรงกลั่นทั้งหมด 6 แห่ง กำลังการผลิตทั้งสิ้น 1,087,000 บาร์เรลต่อวัน ซึ่งแบ่งได้เป็นในกลุ่ม ปตท.(โรงกลั่นของ TOP, PTTGC, SPRC, IRPC, และ BCP) 910,000 บาร์เรลต่อวัน และโรงกลั่นของ ESSO 177,000 บาร์เรลต่อวัน โดยน้ำมันดิบที่เข้ากลั่นราว 80% จะเป็นน้ำมันดิบที่ถูกนำเข้ามาจากต่างประเทศ ส่วนใหญ่จะมาจากแถบตะวันออกกลาง มีเพียงราว 20% จะมาจากแหล่งในประเทศ
 
ค่าการกลั่นคืออะไร?

สำหรับโรงกลั่นน้ำมัน วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตแน่นอนว่าจะต้องเป็น “น้ำมันดิบ”  นำไปผ่านกระบวนการกลั่นได้จะผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย เช่น ก๊าซหุงต้ม น้ำมันเบนซิน น้ำมันเครื่องบิน น้ำมันดีเซล น้ำมันเตา และยางมะตอย ซึ่งสัดส่วนที่กลั่นออกมาได้ในแต่ละโรงกลั่นนั้นก็ขึ้นอยู่กับน้ำมันดิบที่ใช้เข้ากลั่น รวมถึงตัวโรงกลั่นที่ถูกออกแบบด้วยเทคโนโลยีต่างกันออกไป สำหรับค่าการกลั่นนั้นคือ ส่วนต่างของรายได้ที่ได้จากการขายผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่น และต้นทุนน้ำมันดิบ แม้ว่าค่ากการกลั่นจะไม่ใช่ผลกำไรของโรงกลั่นทั้งหมด เนื่องจากยังไม่รวมต้นทุนในการดำเนินงาน และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ของโรงกลั่น แต่ทว่า ก็เป็นส่วนสำคัญหนึ่งที่เป็นแนวทางในการคาดการณ์แนวโน้มผลดำเนินงานของโรงกลั่น โดยค่าการกลั่น (Singapore Dubai Crack) ในช่วง 3QTD เฉลี่ยอยู่ที่ 7.3 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ปรับตัวดีขึ้นเทียบกับใน 2Q56 เฉลี่ยอยู่ที่ 6.5 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล

ราคาน้ำมันดิบสำคัญอย่างไร?

นอกจากนี้ค่าการกลั่นแล้วแล้ว ระดับราคาน้ำมันดิบก็เป็นอีกส่วนสำคัญต่อแนวโน้มของธุรกิจโรงกลั่น เนื่องจากผู้ประกอบการเหล่านี้ต้องมีการสำรองน้ำมันดิบเพื่อใช้กลั่นให้เพียงพอต่อความต้องการในประเทศ ดังนั้น หากระดับราคาน้ำมันดิบอ่อนตัวลงจะส่งผลให้มีต้นทุนของผู้ประกอบการอยู่ในระดับสูงเทียบกับปัจจุบัน จึงมีผลขาดทุนจากสต๊อกน้ำมันอย่างที่เคยเป็นในช่วงไตรมาส 2 ที่ผ่านมา โดยระดับราคาน้ำมันดิบ (Dubai) ปรับตัวลดลงถึง 8 เหรียญสหรัฐ ปิดที่ราว 99 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล อย่างไรก็ตาม ระดับราคาก็ขยับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ราว 105 เหรียญต่อบาร์เรล หลังได้ปัจจัยสนับสนุนจากการกลับมาเดินเครื่องของโรงกลั่นในแถบเอเชีย หลังจากที่มีการหยุดซ่อมบำรุงตามแผนในช่วงปลายไตรมาส 2Q56 อีกทั้งความวุ่นวายทางการเมืองของกลุ่มประเทศในแถบตะวันออกกลาง

ราคาน้ำมันดิบที่จะเห็นกันเป็นประจำ ได้แก่ ดูไบ (Dubai), เบรนต์ (Brent) และดับบลิวทีไอ (WTI) ซึ่งแม้จะเป็นราคาน้ำมันดิบเหมือนกัน แต่ทว่าระดับราคาจะค่อนข้างแตกต่างกัน เนื่องจากความแตกต่างของแหล่งที่มา และคุณสมบัติของแต่ละที่ ซึ่งโดยหลักแล้วจะวัดจากค่าความหนาแน่นเฉพาะ (API) และปริมาณซัลเฟอร์ (Sulfur) หากน้ำมันดิบที่คุณภาพดีควรมีค่า API ที่สูง (สามารถกลั่นได้ผลิตภัณฑ์ที่มีราคาแพงมากกว่า) และ Sulfur ต่ำ (ซัลเฟอร์เป็นสารปนเปื้อนที่ต้องกำจัดทิ้งในกระบวนการกลั่น) อย่างไรก็ตาม สำหรับประเทศไทยแล้วส่วนใหญ่จะนำเข้าน้ำมันดิบมาจากแถบตะวันออกกลาง จึงใช้ราคาน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) เป็นตัวอ้างอิง

ศศิกร เจริญสุวรรณ, CFA, CAIA
นักวิเคราะห์การลงทุนด้านตลาดทุน บล.ฟิลลิป # 9744
Tel. 66 2 635 1700 #480
กำลังโหลดความคิดเห็น