xs
xsm
sm
md
lg

เตรียมรีดภาษีโอนหุ้นนอกตลาดฯ จี้โบรกฯ รายงาน “วอร์แรนต์-เดลิเวทีฟ-เอ็นดีวีอาร์-ดีอาร์” ของลูกค้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วรพล โสคติยานุรักษ์
“สรรพากร” เตรียมรีดภาษีคนเล่นหุ้น กระทุ้งโบรกเกอร์ต้องรายงานการโอน “วอร์แรนต์-เดลิเวทีฟ-เอ็นดีวีอาร์-ดีอาร์” นอกตลาดหลักทรัพย์ฯ ของลูกค้าตนเอง

นายวรพล โสคติยานุรักษ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ส่งหนังสือเวียนถึงบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ธนาคารที่รับฝากทรัพย์สินของลูกค้าทุกแห่ง และบริษัทศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (ประเทศไทย) เพื่อขอความร่วมมือเกี่ยวกับการจัดส่งข้อมูลการโอนหุ้นนอกตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ให้แก่กรมสรรพากร

สาเหตุที่ต้องออกหนังสือเวียนดังกล่าว เนื่องจากกรมสรรพากร มีหนังสือขอความร่วมมือมายัง ก.ล.ต. ให้ช่วยขอข้อมูลจากบริษัทหลักทรัพย์ จัดส่งข้อมูลของลูกค้าที่มีการโอนหุ้นนอกตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งได้แก่ หุ้น ใบสำคัญแสดงสิทธิ (วอร์แรนต์) ใบสำคัญแสงสิทธิอนุพันธ์ (DW) ใบสำคัญแสดงสิทธิในผลประโยชน์ที่เกิดจากหลักทรัพย์อ้างอิงไทย (NVDR) ใบสำคัญแสดงสิทธิในผลประโยชน์ที่เกิดจากหลักทรัพย์อ้างอิง (DR) ให้แก่กรมสรรพากร เพื่อประโยชน์ในการจัดเก็บภาษีตามรูปแบบที่กรมสรรพากรกำหนด

สำหรับการโอนหลักทรัพย์ของบริษัทจดทะเบียนนอกตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นธุรกรรมที่ผู้โอน หรือผู้รับโอนมีภาระหน้าที่ต้องเสียภาษีแล้วแต่กรณี โดย ก.ล.ต. พิจารณาแล้วเห็นว่า บริษัทหลักทรัพย์มีการให้บริการเกี่ยวกับการโอนหลักทรัพย์ให้แก่ลูกค้า จึงขอความร่วมมือจากบริษัทให้จัดส่งข้อมูลของลูกค้า รวมถึงลูกค้าประเภทกองทุนรวม และกองทุนส่วนบุคคลด้วย ที่มีการโอนหลักทรัพย์นอกตลาดหลักทรัพย์ฯ (โอนหลักทรัพย์) เฉพาะกรณีการโอนข้ามชื่อให้แก่สรรพากร

โดยมีรายละเอียดดังนี้ 1.บริษัทที่ลูกค้าขอทำธุรกรรมโอนหลักทรัพย์ (บริษัทผู้โอน) เป็นผู้มีหน้าที่ต้องรายงานให้กรมสรรพากรทราบ โดยให้รายงานธุรกรรมทุกรายการที่เกิดขึ้น 2.ให้จัดส่งรายงานให้แก่กรมสรรพากรเป็นรายเดือน โดยจัดส่งภายใน 15 วัน ของเดือนถัดไป ในรูปของไฟล์ EXCEL หากข้อมูลมีมากกว่า 10 เมกะไบต์ ขอให้จัดส่งเป็น CD ทางไปรษณีย์ ถึงศูนย์สำรวจและติดตามธุรกิจนอกระบบของกรมสรรพากร

3.ในกรณีที่เดือนดังกล่าว ไม่มีลูกค้าทำธุรกรรมโอนหลักทรัพย์ ขอให้แจ้งว่าไม่มีด้วย และ 4.กรณีบริษัทหลักทรัพย์ที่ได้รับอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุน ขอให้บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม หรือ บลจ. ให้ความร่วมมือกับบริษัทหลักทรัพย์ ในการรายงานธุรกรรมโอนหลักทรัพย์ กรณีการทำธุรกรรมซื้อขายหลักทรัพย์ระหว่างกองทุน (Cross Trade) ภายใต้การจัดการทั้งกองทุนรวม กองทุนส่วนบุคคล

นอกจากนี้ ในกรณีกองทุนส่วนบุคคลซึ่งผู้ลงทุนอาจมีภาระภาษีเกิดขึ้นจากธุรกรรม Cross Trade ขอให้บริษัทชี้แจงทำความเข้าใจแก่ลูกค้ากองทุนส่วนบุคคลเกี่ยวกับภาระภาษีที่อาจเกิดขึ้นดังกล่าวด้วย

ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความชัดเจนเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษี สำนักงาน ก.ล.ต. ได้มีหนังสือสอบถามข้อมูลไปยังกรมสรรพากรเกี่ยวกับประเด็นภาระภาษี สำหรับการโอนหลักทรัพย์นอกตลาดหลักทรัพย์ฯ แล้ว หากได้ข้อมูลเพิ่มเติมจากกรมสรรพากร ก.ล.ต.จะได้ซักซ้อมความเข้าใจให้ทราบต่อไป

นอกจากนี้ สำนักงาน ก.ล.ต. มีแนวคิดที่จะปรับปรุงกฎเกณฑ์การเปิดเผยข้อมูลงบการเงินของสาขาธนาคารต่างประเทศในประเทศไทย โดยเน้นการเปิดเผยข้อมูลงบการเงินของสำนักงานสาขาของธนาคารต่างประเทศเป็นหลัก เพื่อสะท้อนความสามารถในการชำระคืนหนี้ ประกอบการออก และเสนอขายตราสารหนี้ทั้งระยะสั้น และระยะยาวในประเทศไทย โดย ก.ล.ต. อยู่ระหว่างเปิดรับฟังความคิดเห็นจนถึงวันที่ 25 กันยายน 2556

สืบเนื่องจากการพิจารณากฎหมายที่เกี่ยวข้องแล้วพบว่า ในกรณีที่สำนักงานสาขาประสบปัญหาฐานะการเงินไม่สามารถชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ และทรัพย์สินทั้งหมดของสำนักงานสาขาที่อยู่ในประเทศไทยไม่เพียงพอต่อการชำระหนี้ ผู้ถือตราสารหนี้ของสำนักงานสาขา อาจมีความเสี่ยงจากข้อจำกัดของกฎหมาย ในการขอรับชำระหนี้จากทรัพย์สินของสำนักงานใหญ่ในต่างประเทศ ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะดำเนินการบังคับชำระหนี้ได้เฉพาะจากทรัพย์สินของสำนักงานสาขาในประเทศไทย

ดังนั้น ก.ล.ต. จึงมีแนวคิดที่จะให้เน้นการเปิดเผยข้อมูลฐานะการเงิน และผลประกอบการของสำนักงานสาขา เพื่อให้สะท้อนถึงความเสี่ยงดังกล่าวได้ดียิ่งขึ้น และให้สำนักงานสาขาใช้ผลการจัดอันดับแสดงความน่าเชื่อถือ (Issuer Rating) ของสำนักงานสาขาในการออก และเสนอขายตราสารหนี้ด้วย

รายงานข่าวจากกรมสรรพากร เปิดเผยว่า กรมฯ ได้ส่งหนังสือถึงสำนักงานก.ล.ต.เพื่อให้ขอข้อมูลการซื้อขายหลักทรัพย์นอกตลาดของนักลงทุน ซึ่งเป็นไปตามกฎกระทรวง และประมวลรัษฎากร เพื่อเป็นการตรวจสอบข้อมูลประกอบการชำระภาษีที่ถูกต้องมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 126 ข้อ 2 วรรค 23 กำหนดให้ผู้ซื้อหุ้นที่มีส่วนเกินของทุนจะต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย และกรมฯ มีอำนาจให้ผู้เสียภาษีต้องส่งข้อมูลเพิ่มเติมให้กรมฯ ตามมาตรา 17 (2) แห่งประมวลรัษฎากร


กำลังโหลดความคิดเห็น