xs
xsm
sm
md
lg

กรุงไทยคงเป้าสินเชื่อโต 7.5% เน้นซัปพลายเชนโครงการรัฐ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กรุงไทยคงเป้าสินเชื่อแบงก์ที่ 7.5% ระบุแม้เศรษฐกิจชะลอ แต่ครึ่งปีแรกตุนไว้เยอะ ส่วนคุณภาพหนี้ยังดี ด้านเครดิตบูโรยันยอดผิดนัดยังไม่น่าห่วงเหตุแบงก์คุมเข้ม ขณะที่ยอดติดตามตรวจซ้ำพุ่ง จับตาหนี้บุคคล

นายวรภัค ธันยาวงษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า แนวโน้มเศรษฐกิจโดยรวมในช่วงที่เหลือที่ของปีนี้ก็คงจะเติบโตในอัตราที่อ่อนแรงลงจากปีก่อน เนื่องจากเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ฟื้นอย่างเต็มที่ ขณะที่เศรษฐกิจของประเทศหลักของอาเซียน อย่าง จีน อินเดีย ก็ชะลอตัวลงด้วย ทำให้กระทบต่อภาคการส่งออกและเศรษฐกิจตามไปด้วย อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยยังมีแรงหนุนจากเงินทุนไหลเข้าที่ผ่านมาทางคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) และภาคการท่องเที่ยวที่ยังดีอยู่ จึงทำให้ไม่ชะลอตัวลงมาก

อย่างไรก็ตาม ธนาคารกรุงไทย จะยังคงเป้าอัตราการเติบโตของสินเชื่อไว้ในระดับ 7.5% โดยมีสัดส่วนสินเชื่อภาครัฐในระดับ 10% ของยอดสินเชื่อรวมเช่นเดิม และยังคงเน้นการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบการที่ได้รับเหมาโครงการจากภาครัฐ ซึ่งมีความเสี่ยงต่ำ ส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ของธนาคารยังไม่มีสัญญาณที่น่าเป็นห่วง

“ช่วงครึ่งปีแรกสินเชื่อเราเติบโตได้ดี ก็คิดว่าจะปรับเป้าขึ้น แต่มาช่วงไตรมาส 3-4 เศรษฐกิจชะลอก็เลยคงเป้าไว้ตามเดิม ซึ่งที่ผ่านมา ก็ยังไม่เห็นสัญญาณของหนี้เสียที่เพิ่มขึ้นอย่างน่าเป็นห่วง ทั้งในส่วนของสินเชื่อเอสเอ็มอีแ ละสินเชื่อรายย่อย โดยเอ็นพีแอลของธนาคารยังทรงๆ อยู่ในระดับ 1% กว่า ขณะที่การลดวงเงิน QE ของสหรัฐฯ นั้นหากเป็นจริงก็คงจะเป็นผลดีต่อไทย ทำให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น แม้จะมีเงินไหลออกไปบ้าง แต่เชื่อว่าจากพื้นฐานเศรษฐกิจไทยยังมีความมีแข็งแกร่ง จะทำให้ยังมีเงินลงทุนเข้ามาอยู่ และหากได้เงินจากโครงการของรัฐที่ออกมาช่วยก็จะดีมาก”

เผยหนี้เน่าไม่น่าห่วง-แบงก์คุมเข้ม

ด้านนายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (เครดิตบูโร) กล่าวว่า ในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมาของปี ยังไม่มีสัญญาณการเพิ่มขึ้นของจำนวนลูกหนี้ที่ผิดนัดชำระหนี้เกิน 90 วันเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ แม้ว่าประมาณการหนี้ครัวเรือนจะเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ เนื่องจากสถาบันการเงินต่างๆ มีเกณฑ์ในการปล่อยสินเชื่อที่เข้มงวด มีการบริหารความเสี่ยงที่ดี เพราะมีบทเรียนมาหลายวิกฤตเศรษฐกิจแล้ว ส่วนผลจากโครงการรถยนต์คันแรกนั้น โดยส่วนใหญ่แล้วต้องรอดูภายหลังครบกำหนดคืนภาษีหลังซื้อรถ 1 ปีก่อน

“จากการประเมินแล้วรถคันแรกที่เข้าระบบสินเชื่อ ถ้าเป็นในส่วนของแบงก์ หรือบริษัทในเครือนั้นไม่ค่อยมีปัญหาเพราะเขาไม่ได้ผ่อนเกณฑ์อะไรให้ แต่ก็จะมีในบางส่วนที่เป็นนอนแบงก์ที่มีเกณฑ์ผ่อนคลายกว่า ตรงนี้เขาก็มีมาตรการรองรับอยู่ คือ พอเห็นสัญญาณก็จะมีให้ยืดระยะเวลาการผ่อน เป็นต้น จึงทำให้ยังไม่มียอดผิดนัดมากนัก”

นายสุรพล กล่าวอีกว่า สิ่งที่เราได้เห็นในช่วงที่ผ่านมาก็คือ ปกติช่วง 2-3 ปีก่อนหน้าจะมียอดเช็กข้อมูลประมาณ 5 หมื่นรายการ แต่ที่ปีที่แล้วมียอดเช็ก 430,000 รายการ และช่วง 8 เดือนแรกของปีมียอดเช็ก 280,000 รายการ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าสถาบันการเงินต่างๆ มีการทบทวน ติดตามเครดิตของลูกหนี้อย่างใกล้ชิดขึ้น ขณะที่ยอดลูกหนี้ใหม่ที่เข้ามาในช่วง 8 เดือนแรกลดลงประมาณ 10% จากการที่สถาบันการเงินมีความเข้มงวดมากขึ้นซึ่งเป็นสิ่งที่ดีในช่วงเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอน

ส่วนที่ต้องจับตาดูแต่ยังไม่ได้ถึงกับน่ากังวล ก็เป็นส่วนของสินเชื่อบุุคคล แบบกู้เป็นก้อนแล้วผ่อนเป็นรายเดือนจึงเชื่อมโยงกับรายได้โดยตรง หากตรงนั้นมีปัญหาก็จะกระทบการชำระหนี้เร็ว และการนำเงินไปใช้ก็ไม่ได้กำหนดวัตถุประสงค์ ทำให้อาจนำไปใช้ในบริโภคที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ โดยปัจจุบัน มีจำนวนหนี้บุคคลอยู่ไม่เกิน 14 ล้านบัญชี ขณะที่ยอดลูกหนี้รวมมีจำนวน 25 ล้านราย มีบัญชีสินเชื่อประมาณ 73 ล้านบัญชี และมีบัญชีที่ค้างชำระเกิน 90 วัน 1.1 ล้านบัญชี

รอตีความรับ กยศ.เข้าระบบ

สำหรับกรณีกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) จะเข้าสู่ระบบของเครดิตบูโรนั้น จะต้องพิจารณาใน 3 เรื่องด้วยกันกัน คือ จะต้องตีความว่า กยศ.เป็นสถาบันการเงินหรือไม่ตรงนี้เป็นส่วนที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ถ้าไม่ใช่จะต้องมีการแก้กฎหมายเพื่อให้สามารถเข้าสู่ระบบหรือไม่ รวมถึงการคลีนข้อมูลก่อนเข้าสู่ระบบ และการทำความเข้าใจกับผู้กู้ยืมเงินของ กยศ.ในการเข้าสู่ระบบ ซึ่งวันนื้คณะกรรมการเครดิตบูโรจะมีการประชุมหลังจากได้รับหนังสือจาก กยศ.เมื่อวันที่ 9 ก.ย.ที่ผ่านมา และนำเสนอข้อมูลให้ ธปท.อีกครั้ง
กำลังโหลดความคิดเห็น