ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น แตกไลน์ธุรกิจ จับมือสองพันธมิตร GUNKUL และ SPCG จัดตั้ง 16 บริษัทย่อย เพื่อดำเนินโครงการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังแสงอาทิตย์จำหน่าย โดยมีทุนจดทะเบียนเบื้องต้นกว่า 1 ล้านบาท ด้าน “สมยศ” เตรียมจ่อยื่นประมูลโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา (Solar PV Rooftop) จากการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เร็วๆนี้ พร้อมวางแผนออกกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Fund) ในอนาคต
นายแพทย์สมยศ อนันตประยูร ประธานกรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้จัดตั้งบริษัทย่อย จำนวน 16 บริษัท เพื่อดำเนินโครงการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังแสงอาทิตย์จำหน่าย โดยการจัดตั้งบริษัทย่อยในครั้งนี้เป็นการร่วมลงทุนกับบริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ GUNKUL 6 บริษัท โดยมีทุนจดทะเบียน 1,000,000 บาท มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 10 บาท จำนวนหุ้น 100,000 หุ้น โดย WHA ถือหุ้น 75% และ GUNKUL ถือหุ้น 25% ซึ่งประกอบด้วย บริษัท ดับบลิวเอชเอ กันกุล กรีนโซล่าร์รูฟ 1 จำกัด, บริษัท ดับบลิวเอชเอ กันกุล กรีนโซล่าร์รูฟ 2 จำกัด, บริษัท ดับบลิวเอชเอ กันกุล กรีนโซล่าร์รูฟ 3 จำกัด, บริษัท ดับบลิวเอชเอ กันกุล กรีนโซล่าร์รูฟ 4 จำกัด, บริษัท ดับบลิวเอชเอ กันกุล กรีนโซล่าร์รูฟ 5 จำกัด, บริษัท ดับบลิวเอชเอ กันกุล กรีนโซล่าร์รูฟ 6 จำกัด
นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังได้ร่วมลงทุนในการจัดตั้งบริษัทย่อย ร่วมกับ บริษัท เอสพีซีจี แคปปิตอล จำกัด จำนวน 10 บริษัท โดยมีทุนจดทะเบียน 100,000 บาท มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 10 บาท จำนวนหุ้น 10,000 โดย WHA ถือหุ้นร้อยละ 74.99 และ SPCG ถือหุ้นร้อยละ 25.01 โดยบริษัทย่อย ประกอบกับ บริษัทดับบลิวเอชเอ เอสพีซีจี-1, บริษัท ดับบลิวเอชเอ เอสพีซีจี-2 จำกัด, บริษัท ดับบลิวเอชเอ เอสพีซีจี-3 จำกัด, บริษัท ดับบลิวเอชเอ เอสพีซีจี-4 จำกัด, บริษัท ดับบลิวเอชเอ เอสพีซีจี-5 จำกัด, บริษัท ดับบลิวเอชเอ เอสพีซีจี-6 จำกัด,บ ริษัท ดับบลิวเอชเอ เอสพีซีจี-7 จำกัด, บริษัท ดับบลิวเอชเอ เอสพีซีจี-8 จำกัด, บริษัท ดับบลิวเอชเอ เอสพีซีจี-9 จำกัด และบริษัท ดับบลิวเอชเอ เอสพีซีจี-10 จำกัด
นายแพทย์สมยศ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการร่วมมือกันในครั้งนี้จะเป็นการเพิ่มศักยภาพความแข็งแกร่งให้บริษัทฯ มากขึ้น ทั้งนี้ หากพิจารณาแล้วจะเห็นได้ว่า ในปัจจุบันมีพื้นที่หลังคาคลังสินค้า รวมทั้งโรงงานรวมแล้วกว่า 8 แสนตารางเมตร และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นแตะระดับ 1 ล้านตารางเมตร ได้ภายในสิ้นปีนี้อย่างแน่นอน โดยโครงการ Solar Roof นอกจากจะสร้างความแข็งแกร่งให้บริษัทฯ แล้ว ยังทำให้บริษัทฯ มีสัดส่วนรายได้เพิ่มขึ้น นอกเหนือจากรายได้ในธุรกิจหลัก จากการให้เช่าคลังสินค้า ศูนย์กระจายสินค้า และโรงงานผลิตขนาดใหญ่
อย่างไรก็ตาม โครงการดังกล่าวจะส่งผลดีโดยลูกค้าจะได้รับผลประโยชน์สูงสุด เนื่องจาก Solar Roof จะทำให้เกิดพื้นที่ฉนวนกันความร้อน ภายใต้หลังคาของคลังสินค้า และศูนย์กระจายสินค้า ซึ่งจะทำลูกค้าสามารถยืดระยะเวลาในการรักษาคุณภาพของสินค้า รวมถึงยังเป็นการช่วยประหยัดพลังงานได้เพิ่มมากขึ้น พร้อมกันนี้ ยังเป็นการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ภายใต้ กรีนเอนเนอร์ยี (Green Energy) อีกด้วย นายแพทย์สมยศ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า บริษัทฯ เตรียมที่จะเข้าประมูลงานโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา (Solar PV Rooftop)จ ากการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ทั้งนี้ หากแผนการลงทุนดังกล่าวสำเร็จ WHA ก็มีโอกาสที่จะออกกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Fund) ในอนาคต