หลังจากเหตุไฟดับครั้งใหญ่ที่ 14 จังหวัดภาคใต้เมื่อไม่นานมานี้ เกิดเป็นประเด็นถึงการสร้างโรงงานไฟฟ้าเพิ่มเติมเพื่อสนองตอบความต้องการใช้ไฟฟ้าที่มีเพิ่มมากขึ้น ทว่า การสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเครียร์ กับโรงไฟฟ้าถ่านหินก็ดูจะเป็นปัญหาคือสิ่งแวดล้อมที่หลายคนเป็นห่วง แล้วพลังสะอาดอย่างโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์จะสามารถตอบโจทย์พลังงานที่ขาดแคลนในประเทศได้หรือไม่
โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์นั้นเป็นวิทยาการที่มีมานานแล้ว หากแต่ในประเทศไทยกลับยังไม่มีการพัฒนาให้ใช้อย่างจริงจัง ทั้งที่ประเทศไทยก็เป็นประเทศที่มีพลังงานแสงอาทิตย์สูงอยู่เหมือนกัน อย่างไรก็ตาม ล่าสุดบริษัท พัฒนาพลังานธรรมชาติ หรือ NED ได้ดำเนินการสร้างโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ไปแล้วถึง 2 โรงคือ โรงไฟฟ้า “ลพบุรีโซล่าร์” และ “วังเพลิงโซล่าร์”
NED ลงทุนครั้งใหญ่ 10,000 ล้านบาท ใหญ่ที่สุดในเซาท์อีสต์เอเชีย ปั้นโรงไฟฟ้าพลังงานธรรมชาติ มีส่วนช่วยลดการนำเข้าเชื้อเพลิงจากต่างประเทศได้ถึง 60,000 ตันต่อปี
จอห์นี่ เฉิน ยู แวง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พัฒนาพลังงานธรรมชาติ จำกัด (NED)ผู้ดำเนินธุรกิจพลังงาน โรงไฟฟ้า ลพบุรีโซล่าร์ และ วังเพลิงโซล่าห์ เปิดเผยว่าบริษัทพัฒนาโรงไฟฟ้าครบทั้ง 2 เฟสแล้ว โดยใช้งบลงทุน 10,000 ล้านบาท พื้นที่ทั้งหมด 1,300 ไร่ ที่จังหวัดลพบุรี
“ซึ่งเฟสแรกเข้ามาลงทุนครั้งแรกในปี 2553 สามารถกระจายกระแสไฟฟ้าได้ 73 เมกะวัตต์ ส่วนเฟสที่ 2 พัฒนาในปี 2554 สามารถกระจายกระแสไฟฟ้าได้ 11 เมกะวัตต์ รวมทั้งหมดสามารถกระจายกระแสไฟฟ้าได้ 84 เมกะวัตต์ ซึ่งเพียงพอกับการใช้ไฟฟ้าประมาณ 80,000 ครัวเรือน ซึ่งเป็นการลดการนำเข้าเชื้อเพลิงจากต่างประเทศมาผลิตไฟฟ้าได้มากถึง 60,000 ตันต่อปี”
ทั้งนี้ บริษัทคาดว่าจะสามารถคืนทุนได้ภายใน 10 ปี ซึ่งบริษัทมีกลุ่มลูกค้าอยู่ 2 กลุ่มหลักคือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ส่งผลให้บริษัทมีรายได้ในปีแรกคือปี 2555 ที่กว่า 700 ล้านบาท และในปีถัดมาคือปี 2556 นี้ ภายหลังจากรวมรายได้จากการดำเนินการครบทั้ง 2 เฟสแล้วคาดว่าจะมีรายได้รวมทั้งหมดประมาณ 1,000 ล้านบาท
สำหรับบริษัท พัฒนาพลังงานธรรมชาติ จำกัด ก่อตั้งโดยบริษัทผู้ถือหุ้น 3 ราย คือบริษัท ซีแอลพี ไทยแลนด์ รีนิวเอเบิลส์ ลิมิเต็ด(ฮ่องกง), บริษัท ไดมอนด์ เจเนอเรติ้ง เอเชีย ลิมิเต็ด(ญี่ปุ่น) และบริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน)(ไทย) ซึ่งแต่ละบริษัทล้วนเป็นบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญและเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ของธุรกิจพลังงานโลก สำหรับโรงไฟฟ้าดังกล่าวถือว่าเป็นโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ที่ใหญ่ที่สุดของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
นอกจากบริษัทจะมีโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แล้ว บริษัทยังจัดให้มีศูนย์การเรียนรู้เรื่องพลังงานทดแทน ที่จะเป็นแหล่งเรียนรู้ ดูงาน และแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของจังหวัดลพบุรี โดยมีส่วนพิพิธภัณฑ์ ประกอบด้วยเรื่องราวประวัติศาสตร์ ,ส่วนนิทรรศการ ประกอบด้วยข้อมูล ความรู้ เกม และกิจกรรมที่เกี่ยวกับสถานการณ์พลังงานโลก พลังงานสะอาดและความรู้เกี่ยวกับกระบวนการผลิตไฟฟ้าด้วยแสงอาทิตย์ และส่วนห้องประชุมด้วย
แต่ทว่า พลังงานแสงอาทิตย์ก็ยังอยู่ไกลจากความคาดหวังที่จะให้มาแทนที่โรงไฟฟ้าแบบอื่น เพราะแม้ว่าจะเป็นพลังงานสะอาด แต่ก็ยังไม่สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้เพียงพอต่อความต้องการ ทั้งนี้ภาคใต้นั้นมีความต้องการไฟฟ้าสูงถึง 2,000 เมกะวัตต์ ขณะที่โรงไฟฟ้าลพบุรีโซลาร์สามารถผลิตได้เพียง 80 เมกะวัตต์เท่านั้น
“มันยังมีข้อจำกัดในการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์อยู่พอสมควร ต้องคำนวณทั้งต้นทุนความคุ้มค่าและพื้นที่ตั้งว่ามีประสิทธิภาพในการผลิตพลังงานได้สูงแค่ไหนด้วย” คมกฤษณ์ เลาวกุล ผู้จัดการฝ่ายการเงินและธุรการ บริษัท พัฒนาพลังงานธรรมชาติ จำกัด
นอกจากนี้ บริษัทยังให้ความสนใจในการพัฒนาพลังงานลม โดยที่ผ่านมาบริษัทได้มีการศึกษาผลกระทบความเสี่ยง ซึ่งมีการทดลองทำพลังงานที่โคราช โดยใช้งบลงทุน 6 ล้านบาท ซึ่งสิ่งที่ยากที่สุดของพลังงานลมคือ การหาทำเลพื้นที่ที่เหมาะสมที่จะตั้งโรงไฟฟ้า เนื่องจากพลังงานลม ต้องอาศัยลม จึงต้องใช้พื้นที่ที่เป็นภูเขาซึ่งหายาก
ท้ายที่สุดก็ยังคงต้องติดตามกันต่อไปว่า ทิศทางของการพัฒนาพลังงานไทยนั้นจะมุ่งไปในทิศทางใด