xs
xsm
sm
md
lg

“มนตรี” ยัน ศก.ไทยตอนนี้ไม่เหมือนวิกฤตปี 40 เตือน “หนี้ครัวเรือน” สัญญาณอันตราย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ซีอีโอ “บล.เมย์แบงก์ฯ” ยืนยัน ศก.ไทยขณะนี้ไม่เหมือนวิกฤตปี 40 อย่างที่หลายฝ่ายกังวล คาดไตรมาส 4 ปีนี้รัฐบาลมีเงินกองทุนสำรองเตรียมอัดฉีดใส่ระบบ และจะทำให้ ศก. ฟื้นตัว แต่อาจไปได้ไม่ไกลนัก เพราะไทยมีปัญหาหนี้ครัวเรือนสูงกว่า 80% ของจีดีพี พร้อมมองสถานการณ์หุ้นตกยาวหลายวัน เพราะถูกปัจจัยเสี่ยงรุมกระทบ “ซีอีโอ” ศูนย์วิจัยรวงข้าวมั่นใจ ศก. จะกลับสู่ภาวะปกติ ค่าบาทเป็นไปตามภูมิภาค แต่ปัญหาหนี้ครัวเรือนยังน่าห่วง

นายมนตรี ศรไพศาล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท หลักทรัพย์ เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวในการเสวนา ดำเนินธุรกิจอย่างไร บนเส้นทางที่ผันผวน โดยระบุว่า จากที่หลายฝ่ายมองว่าตลาดมีความไม่แน่นอน จากการที่หุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ตกหนัก ซึ่งตนยืนยันว่า เศรษฐกิจไทยขณะนี้กำลังเติบโตได้ดี แต่ถูกกระทบจากปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้ทิศทางตลาดยังคงผันผวน ทั้งจากในเรื่องความกังวลจากการกระตุ้นมาตรการ QE ของธนาคารกลางสหรัฐฯ และความกังวลต่อเศรษฐกิจเอเชีย ซึ่งตัวหลักอยู่ในกลุ่ม TIP คือ ประเทศไทย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ รวมทั้งความกังวลจากเหตุการณ์ความไม่สงบในประเทศซีเรีย ซึ่งคาดว่าปัญหาความไม่สงบจะไม่ใช่ปัญหาในระยะยาว

ทั้งนี้ นายมนตรี กล่าวว่า ในช่วงไตรมาส 4 ของปีนี้คาดว่ารัฐบาลมีเงินกองทุนสำรองที่เตรียมอัดฉีด และจะทำให้เศรษฐกิจมีการฟื้นตัว แต่อาจจะไปได้ไม่ไกลนัก เนื่องจากไทยยังมีปัญหาของหนี้ครัวเรือนที่สูงกว่าร้อยละ 80 ของ GDP ทั้งนี้ ตนยืนยันว่าปัญหาเศรษฐกิจขณะนี้จะไม่เหมือนวิกฤตเศรษฐกิจการเงินเอเชีย หรือวิกฤตต้มยำกุ้ง ในปี 2540 อย่างที่หลายฝ่ายกังวล

ด้านนายเชาวน์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวในการเสวนาดำเนินธุรกิจอย่างไร บนเส้นทางที่ผันผวน โดยมองว่า เศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้จะเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ หลังมีการปรับฐานลงในช่วงไตรมาส 2 ที่ผ่านมา

ส่วนค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงในช่วงนี้ ถือว่าอยู่ในระดับที่เป็นไปตามประเทศในภูมิภาค แต่ยังต่างกับประเทศอินโดนีเซีย และอินเดีย ที่ค่าเงินอ่อนลงหลังการไหลของเงินทุนออก เนื่องจาก 2 ประเทศดังกล่าวมีการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด และมีหนี้ต่างประเทศสูง

โดยอินโดนีเซีย ที่มีหนี้ต่างประเทศสูงกว่าทุนสำรอง 2 เท่า และอินเดีย ก็มีหนี้ต่างประเทศสูงกว่าทุนสำรอง 1 เท่า ทั้งนี้ แม้เงินทุนสำรองของไทยยังอยู่ในระดับที่ดี แต่ก็ยังคงต้องระวังในเรื่องของหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงเช่นเดียวกับประเทศมาเลเซีย ซึ่งเป็นปัจจัยที่ต้องจับตามอง

นอกจากนี้ ปัจจัยที่ต้องติดตามต่อเนื่องคือ กรณีความรุนแรงในประเทศซีเรีย ที่จะกระทบต่อราคาน้ำมันให้ปรับสูงขึ้น โดยคาดว่าสถานการณ์ดังกล่าวจะไม่ยืดเยื้อเกิน 1 เดือน และยังคงประมาณการราคาน้ำมันเฉลี่ยทั้งปีที่ 106 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล

ทั้งนี้ หากสถานการณ์ยืดเยื้อจะทำให้ราคาน้ำมันสูงขึ้นต่อเนื่อง และจะส่งผลต่อเงินเฟ้อของไทยด้วยรวมถึงอาจทำให้การลดวงเงิน QE ขยายเวลาออกไป จากเดิมในช่วงกลางเดือนกันยายน 2556 นี้
กำลังโหลดความคิดเห็น