xs
xsm
sm
md
lg

ทั่วโลกเปิดสงครามค่าเงิน แต่ “รบ.-ธปท.” กำลังเปิดศึก “ดอกเบี้ย” หวั่นตลาดพังก่อนฟองสบู่แตก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“วีรพงษ์” ชี้การคงดอกเบี้ยสูงดันเงินไหลเข้าไทยถือเป็นต้นเหตุสำคัญของฟองสบู่ พร้อมย้อนรอยวิกฤตต้มยำกุ้ง “กรณ์” โพสต์เฟซบุ๊กเตือน “กนง.” หากปรับลดดอกเบี้ยตามใบสั่งการเมืองระวังฟองสบู่ ยอมรับแนวโน้มค่าเงินบาทผันผวนเพราะทั่วโลกกำลังเปิดสงครามค่าเงิน “เกริก” ชี้การลดดอกเบี้ยไม่มีผลต่อตลาดทันที ลั่นดอกเบี้ยของไทยไม่ได้สูงกว่าประเทศในภูมิภาคเอเชีย แถมดอกเบี้ยแท้จริงยังติดลบ

นายวีรพงษ์ รามางกูร ประธานคณะกรรมการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในปาฐกถาพิเศษเรื่อง “เศรษฐกิจโลกท่ามกลางสภาพคล่องล้นระบบ : ความท้าทายของนโยบายภาครัฐ” จัดโดยชมรมเอซีไอ (ประเทศไทย) ว่า ราคาสินทรัพย์ที่ปรับเพิ่มสูงขึ้นเป็นผลมาจากดอกเบี้ยไทยสูงกว่าต่างประเทศ ทำให้มีเงินทุนไหลเข้ามามาก

นายวีรพงษ์ ยังยืนยันแนวคิดลดดอกเบี้ยเพื่อชะลอเงินไหลเข้า แต่ในครั้งนี้ไม่ได้ระบุชัดเจนนัก เพียงแต่ยกตัวอย่างภาวะฟองสบู่ในอดีต

“สิ่งที่น่าห่วง คือ ช่วงที่เงินไหลเข้าประเทศมากๆ ทำให้ราคาสินทรัพย์ต่างๆ ปรับเพิ่มขึ้นนั้น ทุกคนมีความเสี่ยงหมด เพียงแต่ถ้าพูดอะไรไปก็อาจจะโดนตำหนิกลับมาได้ มันจะเหมือนกับปี 2540 ที่ตอนปี 2538-2539 มีเงินทุนไหลเข้าจำนวนมาก แล้วในที่สุดก็เกิดปัญหา ก็หวังเอาไว้ว่าจากเหตุการณ์ในครั้งนั้นจะถูกนำมาเป็นบทเรียน ซึ่งเงินทุนที่ไหลเข้าในปี 2538-2539 มากๆ นั้น เป็นผลจากดอกเบี้ยไทยที่สูงกว่าดอกเบี้ยต่างประเทศ”

ด้านนายกรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Korn Chatikavanij โดยระบุว่า แบงก์ชาติกำลังจะมีประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินอีกครั้ง เพื่อกำหนดว่าจะลดดอกเบี้ยตามที่รัฐมนตรีคลังต้องการหรือไม่

“ผมอยากฝากข้อสังเกตว่า ผลสรุปการประชุมรัฐมนตรีคลังจาก 20 ประเทศใหญ่สุด G20 เรื่อง “สงครามอัตราแลกเปลี่ยน” ทำให้สรุปได้ว่า สงครามนี้ “ตัวใครตัวมัน” เพราะ ใครจะมีนโยบายพิมพ์เงิน ลดค่าเงินตัวเอง หรืออย่างไรก็แล้วแต่ ให้ถือว่าเป็นสิทธิ และให้ถือว่าเป็นเรื่องภายในของประเทศนั้นๆ”

ในทางเศรษฐกิจเป็นเพราะทุกคนกังวลกับเรื่องอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจมากกว่าเงินเฟ้อ ส่วนในทางการเมืองตีความได้ว่า ทุกประเทศ G20 รู้ว่าฝืนการเมืองในแต่ละประเทศไม่ได้

แต่ประเทศอื่นๆ เขากดดอกเบี้ยให้ต่ำได้เพราะเศรษฐกิจเขาไม่โต การว่างงานเขามาก ไม่เหมือนไทยเรา

สรุปว่า เงินบาทผันผวนแน่ และเนื่องจากเศรษฐกิจพื้นฐานเราดีกว่าเขา เงินบาทก็จะต้องแข็งค่าต่อไป ดังนั้น การลดดอกเบี้ยอาจช่วยได้บ้างในระยะสั้น แต่ผลที่ตามมาเรื่องฟองสบู่ เรื่องเงินเฟ้อ ต้องระวังด้วยครับ

นายเกริก วณิกกุล รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า หาก กนง.ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอาจไม่ได้มีผลให้อัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ปรับลดลงตามในทันที เนื่องจากความต้องการสินเชื่อยังมีอยู่สูง และต้องใช้เวลาระยะหนึ่งในการส่งผ่านทิศทางดอกเบี้ย

“การขยายตัวของสินเชื่อ 2 ปีที่ผ่านมาสูงมาก แสดงถึงอุปสงค์ในตลาด สำหรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจถ้ามีอุปสงค์เช่นนั้นใช่ว่าดอกเบี้ยจะปรับลงได้ง่ายๆ”

รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธปท. กล่าวอีกว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยในปัจจุบันอยู่ในระดับไม่สูงนักเมื่อเทียบกับประเทศในภูมิภาคเอเชีย และดอกเบี้ยที่แท้จริงยังติดลบอยู่
กำลังโหลดความคิดเห็น