สศค.เตรียมโปรโมตกฎหมายเอสโครว์ใหม่ หลังปลดล็อกสารพัดอุปสรรค ให้กรมที่ดินออกโฉนดรวม-หนังสือรับรองขอทำเอสโครว์ ด้านแบงก์เฮให้เก็บค่าธรรมเนียม 0.3% ของราคาบ้าน หวังดึงคนใช้กฎหมาย
นายพรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย เปิดเผยถึงความคืบหน้าของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญา พ.ศ.2551 หรือ Escrow Account ว่า หลังจากที่กฎหมายดังกล่าวประกาศใช้ตั้งแต่ปี 2551 แต่ยังไม่สามารถนำมาใช้ได้จริง เนื่องจากรายละเอียดในกฎหมายหลายประเด็นเป็นอุปสรรคต่อการใช้กฎหมายจริง ซึ่งที่ผ่านมา สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้มองเห็นปัญหาในการปฏิบัติของกฎหมายดังกล่าวจึงได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น 3 สมาคมอสังหาริมทรัพย์ ได้แก่ สมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย สมาคมอาคารชุดไทย สมาคมบ้านจัดสรร และสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ร่วมกันแก้จุดบกพร่องของ พ.ร.บ.ฯ
ซึ่งขณะนี้ได้แก้ไขในทุกประเด็นให้สามารถใช้งานได้จริงแล้ว จึงเตรียมนำกลับมาประชาสัมพันธ์เพื่อให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างของประชาชนอีกครั้ง โดยคาดว่าจะเปิดตัวโครงการนำร่องในการใช้กฎหมายนี้อีกครั้งในอีก 2-3 เดือนข้างหน้า ซึ่งเชื่อว่าจะสร้างความมั่นใจได้มากขึ้น โดยเฉพาะปัจจุบันปัญหาแรงงานขาดแคลน ผู้บริโภคมีกำลังซื้อลดลง ทำให้จะมีแนวโน้มบ้านผ่อนดาวน์มากขึ้น
สำหรับประเด็นที่มีการแก้ไข เช่น เรื่องหนังสือแสดงสิทธิ หรือโฉนดในการยื่นความจำนงทำเอสโครว์ ซึ่งในความเป็นจริง คอนโดมิเนียมจะต้องสร้างเสร็จก่อนจึงจะมีโฉนด ส่วนบ้านจัดสรร หลายโครงการขายไปก่อน ยังไม่ได้ออกโฉนดแปลงย่อย จึงได้แก้ไขเป็นกรณีของคอนโดมิเนียม อนุญาตให้ยื่นขอโฉนดรวมทั้งโครงการกับทางกรมที่ดินได้ ส่วนกรณีบ้านจัดสรร อนุญาตให้กรมที่ดินออกหนังสือรับรองสิทธิรายแปลงก่อนได้
นอกจากนี้ ยังมีการแก้ไขเรื่องค่าธรรมเนียมคุ้มครองเงินดาวน์ที่สถาบันการเงินผู้ได้รับใบอนุญาตเป็นเอสโครว์ เอเยนต์ เป็นผู้จัดเก็บระหว่างเจ้าของโครงการ และผู้ซื้อคนละครึ่ง โดยก่อนหน้านี้กฎหมายได้กำหนดค่าธรรมเนียมไว้ที่ 0.3% ของวงเงินดาวน์ เช่น บ้านราคา 1 ล้านบาท วางดาวน์ 10% เท่ากับ 1 แสนบาท ค่าธรรมเนียมฯ 0.3% เท่ากับ 300 บาท และยังกำหนดให้จัดเก็บเป็นรายงวดตามการผ่อนเงินดาวน์ หากผ่อน 10 เดือนๆ ละ 1 หมื่นบาท เท่ากับจ่ายค่าธรรมเนียมเอสโครว์ 30 บาทต่อเดือน ซึ่งสถาบันการเงินมองว่าค่าธรรมเนียมน้อยมากไม่คุ้มในการดำเนินการ
สำหรับปัจจุบันได้แก้ไขเป็นค่าธรรมเนียมฯ 0.3% ของราคาบ้าน เช่น ราคาบ้าน 1 ล้านบาท ค่าธรรมเนียมฯ 0.3% เท่ากับ 3,000 บาท แบ่งจ่ายคนละครึ่งระหว่างเจ้าของโครงการ และผู้ซื้อเช่นเดิม แต่ให้จัดเก็บรอบเดียวในวันทำสัญญาเอสโครว์ โดยการปรับอัตราค่าธรรมเนียมฯ ในครั้งนี้ ทำให้แบงก์สนใจเข้ารวมมากขึ้น