บอร์ด กนง. มีมติ 6:1 คง ดบ.ที่ระดับ 2.5% โดยเสียงส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่า ศก.ไทยอ่อนแรงลงจริง มั่นใจอัตรา ดบ.นโยบายที่ 2.5% ยังอยู่ในระดับที่ผ่อนปรน สามารถสนับสนุนการขยายตัวทาง ศก.ได้ แม้สินเชื่อภาคเอกชนจะชะลอตัวลง
นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) กล่าวว่า ที่ประชุม กนง. มีมติ 6 ต่อ 1 เสียง คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 2.50 โดย 1 เสียงข้างน้อยให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.25 เพื่อสนันสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปีหน้า ขณะที่คณะกรรมการ กนง. ส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่า เศรษฐกิจไทยอ่อนแรงลงจากเดิม และห่วงใยให้น้ำหนักต่อความเสี่ยงด้านการขยายตัวต่อเศรษฐกิจมากขึ้น แต่ก็เห็นว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 2.50 ยังอยู่ในระดับที่ผ่อนปรน สามารถสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้ แม้ว่าสินเชื่อภาคเอกชนจะชะลอตัวลงบ้าง แต่ยังขยายตัวในอัตราสูงถึงร้อยละ 13 โดยเฉพาะสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภค
ขณะที่ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ทำให้กำลังซื้อของประชาชนลดลง ซึ่งส่วนใหญ่มาจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล แต่เชื่อว่าเมื่อมาตรการดังกล่าวหมดลง ประชาชนจะลดการก่อหนี้ ซึ่งจะทำให้ปัญหาหนี้ครัวเรือนกลับเข้าสู่ระดับปกติ
นอกจากนี้ กนง. ยังเชื่อว่าเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังจะปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากเศรษฐกิจกลุ่มประเทศจี 3 มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น โดยเศรษฐกิจสหรัฐฯ ขยายตัวได้ตามการฟื้นตัวของภาคการผลิต และภาคที่อยู่อาศัย รวมทั้งฐานะทางการเงินของภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้น ส่วนเศรษฐกิจจีนมีเสถียรภาพมากขึ้น ขณะที่อัตราดอกเบี้ยยังต่ำสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจ รายได้นอกภาคเกษตรยังดี และภาครัฐยังมีโครงการลงทุนที่เป็นปัจจัยกระตุ้นการลงทุนภาคเอกชนให้ขยายตัวได้เพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตามากที่สุดคือ ภาวะการเงินโลกที่ยังผันผวน และเสถียรภาพทางการเงิน ส่วนประเด็นปัจจัยการเมืองภายในประเทศมีการพูดคุยในที่ประชุม กนง.ทุกครั้ง เนื่องจากเกรงว่าจะมีผลกระทบต่อการลงทุน