“คลัง” ชี้ “หนี้ครัวเรือน” แตะที่ระดับ 77.5% ต่อจีดีพี ยังห่างไกลก่อปัญหาวิกฤต ศก.รอบใหม่ ย้ำชัดระดับหนี้ครัวเรื่อนที่พุ่งสูงขึ้น เกิดจากปัจจัยชั่วคราว ทั้งวิกฤตน้ำท่วม และนโยบายรถคันแรก
นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาส รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวถึงระดับหนี้ครัวเรือนของไทยในช่วงไตรมาสแรกของปีที่อยู่ในระดับ 77.5% ของจีดีพี โดยกล่าวว่า ระดับหนี้ครัวเรือนของไทยดังกล่าวถือว่าอยู่ในระดับที่ห่างไกลต่อความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ โดยเมื่อเทียบกับกรณีของสหรัฐอเมริกา และยุโรปจะเห็นได้ว่า ระดับหนี้ครัวเรือนที่จะก่อให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจรอบที่ผ่านมาจะสูงกว่า 100% ต่อจีดีพี และกว่าที่จะถึงระดับดังกล่าวก็ใช้เวลานานนับ 10 ปี อย่างไรก็ตาม ทาง สศค.จะได้ติดตามสถานการณ์หนี้ครัวเรือนอย่างใกล้ชิดต่อไป
“กรณีของสหรัฐอเมริกานั้น เขาใช้นโยบายดอกเบี้ยต่ำในการกระตุ้นกำลังซื้อ ทำให้เกิดปัญหาต่อระบบเศรษฐกิจ แต่กรณีของไทยนั้นแม้จะมีการกระตุ้นสินเชื่อผ่านนโยบายรัฐ แต่ก็เป็นเพียงมาตรการชั่วคราว ซึ่งก็เป็นที่มาของการออกมาตรการดูแลเศรษฐกิจที่จะเน้นเรื่องการลงทุนเป็นหลัก เพราะถือว่าการกระตุ้นด้วยวิธีการดังกล่าวนั้น ถือว่าเต็มที่แล้ว”
ทั้งนี้ หนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับดังกล่าว เกิดจากการขยายตัวของสินเชื่ออุปโภคบริโภคของธนาคารพาณิชย์ โดยปี 2555 ขยายตัวถึง 21.5% จากปี 54 ที่ขยายตัว 5.8% ซึ่งเกิดจาก 2 สาเหตุหลัก กล่าวคือ 1.เกิดจากวิกฤตน้ำท่วม ซึ่งทำให้ประชาชนได้ขอสินเชื่อเพื่อมาซ่อมแซมที่อยู่อาศัย และซื้อสินค้าคงทนต่างๆ และ 2.เกิดจากนโยบายรัฐ โดยเฉพาะในส่วนของโครงการรถยนต์คันแรก ทำให้สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ขยายตัวในระดับสูง และเป็นตัวหลักที่ทำให้หนี้ครัวเรือนสูงขึ้น
“เราประเมินว่า แนวโน้มสินเชื่ออุปโภคบริโภคจะลดลง และกลับเข้าสู่ภาวะปกติ เพราะ 2 สาเหตุหลักที่ทำให้สินเชื่อดังกล่าวขยายตัวสูงนั้น จะเป็นเหตุการณ์ชั่วคราว โดยล่าสุด ตัวเลขสินเชื่ออุปโภคในช่วงไตมาสแรกโต 4.6% และลดลงเหลือ 1.8% ในไตรมา 2” เขากล่าว และประเมินว่า แม้ระดับหนี้ครัวเรือนจะอยู่ในระดับสูง แต่จะไม่มีผลต่อการบริโภคโดยรวมในปีนี้มากนัก สะท้อนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในช่วงที่ผ่านมาที่ยังสามารถขยายตัวได้ดี
อย่างไรก็ตาม แม้ว่า สศค.จะวิเคราะห์สถานการณ์หนี้ครัวเรือนผิดพลาด แต่เมื่อประเมินถึงความสามารถในการรองรับความเสี่ยงจะพบว่า ด้วยระดับเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงที่อยู่ในระดับสูงถึง 16% ขณะที่ระดับหนี้เสียอยู่ในอัตรา 2.2% ถือว่าฐานะการเงินของสถาบันการเงินอยู่ในระดับที่จะรองรับได้