“กิตติรัตน์” ฉุน ธปท. ออกบทวิจัย “หนี้ครัวเรือนพุ่ง” ชี้ชัดผิดตั้งแต่ต้นเพราะใช้คำนิยามผิดจากหลักสากล แนะให้กลับไปศึกษาบทวิเคราะห์หน่วยงานอื่นเทียบเคียง หวั่นถ้าเอาจีดีพีไปเทียบเคียงกับประเทศอื่นอาจจะเกิดข้อผิดพลาด และเกิดความกังวล ลั่นสถาบันการเงินต่างๆ ล้วนทราบดี
นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.การคลัง เปิดเผยถึงกรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกบทความเชิงวิจัย โดยวิเคราะห์ถึงสาเหตุของการเพิ่มขึ้นของหนี้ครัวเรือน โดยระบุว่ามาจาก 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่ ดอกเบี้ยต่ำ นโยบายรัฐ และการแข่งขันของสถาบันการเงิน โดยระบุว่า ในความเห็นส่วนตัวยืนยันว่าการนิยามคำว่าหนี้ครัวเรือนของ ธปท.ผิดตั้งแต่ต้น
ทั้งนี้ เนื่องจากคำว่าหนี้ครัวเรือนที่สากลใช้กันนั้น ส่วนใหญ่จะหมายถึงหนี้ที่เกิดจากบุคคลธรรมดาที่มีความสามารถในการก่อหนี้เพื่อลงทุนในทรัพย์สินที่มีความจำเป็น และเป็นประโยชน์ในระยะยาว เช่น การซื้อบ้าน รถยนต์ หรือการดูแลคุณภาพชีวิตของตนเองให้ดีขึ้น ขณะที่ประชาชนที่มีวัตถุประสงค์ในการกู้เพื่อนำไปประกอบกิจการ ต้องมีการนิยามหนี้ในกลุ่มนี้ใหม่ว่า เป็นสินเชื่อเพื่อการประกอบธุรกิจมากกว่า
“ผมเชื่อว่าสถาบันการเงินต่างๆ ทราบดีว่า การกู้จากประชาชนกลุ่มนี้ไม่ใช่หนี้ครัวเรือน เพราะเป็นการปล่อยสินเชื่อให้เพื่อไปประกอบธุรกิจ และสุดท้ายก็จะมีเงินมาใช้คืนหนี้ และในส่วนของ ธปท.เอง เมื่อมันไม่ถูกมาตั้งแต่ต้น ดังนั้น ในแง่การวิจัยอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการเอาจีดีพีไปคำนวณเปรียบเทียบกับอัตราหนี้ครัวเรือนของประเทศอื่น ก็อาจจะเกิดข้อผิดพลาด และเกิดความกังวล เพราะต้องเข้าใจด้วยว่ายังมีรายละเอียดอีกหลายอย่างที่จะวิเคราะห์ได้”
นายกิตติรัตน์ ยืนยันว่า ตนเองไม่ต้องการวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับบทวิเคราะห์ของ ธปท. จนอาจจะทำให้เกิดการขาดความเป็นประโยชน์ แต่อยากให้ไปดูบทวิเคราะห์ของสถาบันต่างๆ และนำไปศึกษาเปรียบเทียบกับมาตรฐานของหน่วยงานอื่นๆ ด้วย ทั้งหน่วยงานด้านสถิติต่างๆ เช่น สำนักงานสถิติแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รวมไปถึงหน่วยงานในระดับสากลอย่างกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ที่มีการกำหนดคำนิยามของคำว่าหนี้ครัวเรือนไว้อย่างชัดเจน
ส่วนการพิจารณาพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ให้กระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ วงเงิน 2 ล้านล้านบาท เชื่อว่าจะสามารถเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรได้ภายในเดือน ส.ค.นี้ โดยเชื่อมั่นว่า กฎหมายกู้เงินดังกล่าวจะผ่านความเห็นชอบของที่ประชุม และสามารถผลักดันเข้าสู่การพิจารณาของวุฒิสภาโดยไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ และจะประกาศใช้อย่างเป็นทางการได้ทันที