“คลัง” แก้หนี้ครัวเรือนลดฮวบเหลือแค่ 64% หลังเข้าเจรจา “ธปท.” กล่อมให้ตัด “เงินกู้สร้างอาชีพ” ไม่นับเป็นหนี้ครัวเรือน ยอมรับการเพิ่มขึ้นของระดับหนี้ครัวเรือนเป็นผลมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล โดยเฉพาะมาตรการรถยนต์คันแรก และการกู้เงินเพื่อซ่อมแซมและสร้างบ้านเรือน พร้อมประเมินว่าทิศทางของระดับหนี้ครัวเรือนน่าจะมีแนวโน้มที่ชะลอตัวลง
นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า ได้หารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ถึงระดับหนี้ครัวเรือนของไทยในไตรมาสแรกที่อยู่ที่ระดับ 77.51% ต่ออัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ คิดเป็นมูลค่ากว่า 8.97 ล้านล้านบาท โดยระบุว่า ควรแยกประเภทของสินเชื่อเพื่อใช้ในการคำนวณระดับหนี้ครัวเรือนโดยรวมให้มีความชัดเจนมากขึ้น
นายเอกนิติ กล่าวว่า หากประเมินจากยอดการปล่อยสินเชื่อครัวเรือนของระบบธนาคารพาณิชย์ทั้ง 3.8 ล้านล้านบาท ในส่วนนี้เป็นสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคล ที่นับเป็นหนี้ครัวเรือนอยู่ที่ราว 3.06 ล้านล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้น 14.2% และเป็นสินเชื่อเพื่อประกอบธุรกิจราว 7.62 แสนล้านบาท คิดเป็นการเติบโตเพิ่มขึ้น 21.8%
“หากแยกสินเชื่อที่บุคคลกู้ไปเพื่อทำการค้า ทำธุรกิจ จะสะท้อนอย่างชัดเจนว่า ระดับหนี้ครัวเรือนที่แท้จริงในปัจจุบันของไทยจะอยู่ในระดับ 64% เท่านั้น จากข้อมูลหนี้ครัวเรือนของ ธปท. ที่ระบุว่า อยู่ในระดับ 77.51% เพราะมีอีก 13% เป็นหนี้ที่เกิดจากการกู้เงินเพื่อประกอบธุรกิจ ซึ่งไม่ควรนับเป็นหนี้ครัวเรือน”
รองผู้อำนวยการ สศค. ระบุว่า ที่ผ่านมา พบว่ามีบุคคลธรรมดาที่ประกอบอาชีพทั่วไป และมีการกู้เงินเพื่อมาลงทุนในธุรกิจจำนวนมาก ซึ่งกลุ่มเหล่านี้ไม่มีการจดทะเบียนบริษัท จึงไม่ควรนำมารวมในการคำนวณระดับหนี้ครัวเรือน
นายเอกนิติ ยอมรับว่า การเพิ่มขึ้นของระดับหนี้ครัวเรือนส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล โดยเฉพาะมาตรการรถยนต์คันแรก และการกู้เงินเพื่อซ่อมแซมและสร้างบ้านเรือน ทั้งนี้ สศค.ประเมินว่าทิศทางของระดับหนี้ครัวเรือนน่าจะมีแนวโน้มที่ชะลอตัวลง เนื่องจากแรงส่งจากมาตรการของรัฐหมดลง