xs
xsm
sm
md
lg

“สภาพัฒน์” หั่นเป้า “จีดีพี” ปีนี้ เหลือโตแค่ 3.8-4.3% เผย ศก.ไตรมาส 2 ทรุดหนัก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สศช.หั่นเป้าจีดีพีปีนี้เหลือโตแค่ 3.8-4.3% เผยหลายปัจจัยส่งผลต่อการขยายตัว ศก.ไตรมาส 2/56 ขยายตัวเพียง 2.8% ทั้งการใช้จ่ายภาคครัวเรือนที่ชะลอตัว โดยขยายตัวเพียง 2.4% ซึ่งเป็นผลมาจากการสิ้นสุดมาตรการกระตุ้นการบริโภคของรัฐบาล ด้านการลงทุนภาคการเอกชนที่ชะลอตัว ขยายตัวเพียง 4.5% เพราะยอดผลิตรถยนต์ลดลง ขณะที่การส่งออกติดลบหนัก 1.9% ส่งผลต่อตัวเลขจีดีพีครึ่งปีแรกขยายตัวเหลือแค่ 4.1%

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยว่า จากปัจจัยการใช้จ่ายภาคครัวเรือนที่ชะลอตัว โดยขยายตัวเพียงร้อยละ 2.4 ซึ่งเป็นผลมาจากการสิ้นสุดมาตรการกระตุ้นการบริโภคของรัฐบาล ด้านการลงทุนภาคการเอกชนที่ชะลอตัว ขยายตัวเพียงร้อยละ 4.5 เพราะยอดผลิตรถยนต์ลดลง ขณะที่การส่งออกติดลบร้อยละ 1.9 เนื่องจากเศรษฐกิจโลกยังไม่ฟื้นตัว ส่งผลให้เศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2 ของปี 2556 ขยายตัวเพียงร้อยละ 2.8 ต่ำกว่าไตรมาสที่ 1 ที่ขยายตัวได้ร้อยละ 5.4 ส่งผลให้ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2556 เศรษฐกิจขยายตัวร้อยละ 4.1 โดยการส่งออกขยายตัวเพียงร้อยละ 1 การบริโภคภายในประเทศขยายตัวร้อยละ 3.4 และการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 5.1 ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวได้ดี ซึ่งเป็นปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่เหลือเพียงตัวเดียว

ดังนั้น สศช.จึงปรับประมาณการเศรษฐกิจในปีนี้ลงเหลือโตร้อยละ 3.8-4.3 จากเดิมคาดว่าโตร้อยละ 4.2-5.2 โดยการส่งออกจะขยายตัวเพียงร้อยละ 5 ซึ่งถือเป็นงานหนักของรัฐบาล เนื่องจากครึ่งปีแรกการส่งออกโตเพียงร้อยละ 1 หากจะให้การส่งออกโตตามคาด ในช่วงครึ่งปีหลังการส่งออกจะต้องขยายตัวได้ถึงร้อยละ 8.7 หรือมีมูลค่าการส่งออกเฉลี่ยเดือนละ 21,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากปัจจุบันอยู่ที่ 18,900 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยเชื่อว่าการส่งออกในไตรมาส 3 จะมีแนวโน้มดีขึ้น โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมรถยนต์จะเร่งการผลิตเพื่อการส่งออกมากขึ้น หลังจากที่ช่วงครึ่งปีแรกผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศตามนโยบายรถยนต์คันแรก และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และอัญมณี ทำให้แนวโน้มเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 3 จะยังขยายตัวได้อยู่ และฐานในช่วงเดียวกันของปีก่อนต่ำเพียงร้อยละ 3.1

สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่ทาง สศช.ให้ความสำคัญ และต้องจับตาดูเป็นพิเศษยังอยู่ที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจยุโรป สหรัฐฯ และญี่ปุ่น ที่ยังล่าช้า รวมไปถึงการชะลอเศรษฐกิจของจีน แรงส่งจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐลดน้อยลง แผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของรัฐบาลล่าช้ากว่าที่คาด และความขัดแย้งเสถียรภาพทางการเมืองที่อาจส่งผลต่อบรรยากาศการท่องเที่ยว โดยปีนี้คาดการณ์มีจำนวนนักท่องเที่ยวเข้ามาประเทศไทยเพิ่มขึ้นจาก 24.7 ล้านคน เป็น 26.2 ล้านคน

นายอาคม กล่าวว่า ยังมีโอกาสที่เศรษฐกิจไทยในปีนี้จะขยายตัวได้ร้อยละ 4.3 โดยในช่วงครึ่งปีหลังภาครัฐจะต้องเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณให้มากขึ้น เพื่อสนับสนุนให้เศรษฐกิจเติบโตได้ตามเป้าหมาย ส่งเสริมให้หน่วยงานราชการจัดการสัมมนาในประเทศ เพื่อกระจายงบประมาณสู่ภูมิภาค และส่งเสริมการส่งออกสินค้าไปยังประเทศเพื่อนบ้านที่มีกำลังซื้อสูง ขณะที่การดำเนินนโยบายการเงินนั้น สามารถผ่อนคลายได้มากขึ้นเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อต่ำอยู่ที่ร้อยละ 2.3-2.8
กำลังโหลดความคิดเห็น