ธปท. จัดหนักหั่นเป้า “จีดีพี” ปี 56 พรวดเดียวเกือบ 1% เหลือแค่ 4.2% จากเดิมที่คาดการณ์ว่า “จีดีพี” จะขยายตัวถึง 5.1% ส่วนปีหน้าคาดโต 5% เท่าเดิม มั่นใต้งแต่ครึ่งปีหลัง 56 เริ่มกระเตื้อง
นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงความเห็นของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในรายงานนโยบายการเงินฉบับเดือนก.ค.2556 ว่า ภาวะเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มต่ำลงในปีนี้ แต่มีแนวโน้มจะปรับดีขึ้นในปี 2557 ทั้งนี้ เนื่องจากองค์ประกอบทางเศรษฐกิจ อุปสงค์ในและนอกประเทศลดลงทุกองค์ประกอบ ทำให้กนง.คาดการอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ปีนี้ลดลงเหลือ 4.2% จากเดิมคาด 5.1% ส่วนปี 2557 คาดไว้เท่าเดิมที่ 5%
สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานคาดว่าจะลดลงอยู่ที่ 1.1% จากเดิมที่คาดไว้ 1.6% ส่วนปีหน้าคาด 1.4% จากเดิม 1.7% และอัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดว่าจะลดลงเหลือ 2.3% จากเดิมที่คาด 2.7% ส่วนปีหน้าคาด 2.6% จากเดิม 2.7%
“เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มต่ำลงในปี 2556 แต่จะปรับดีขึ้นในปี 2557 เพราะองค์ประกอบในการขยายตัวของจีดีพีมีความเสี่ยงด้านลบมากกว่าด้านบวก จากการใช้จ่ายของภาคครัวเรือนที่จะพักฐานนานกว่าที่คาด ภาระหนี้สูง การลงทุนภาครัฐจากการจัดการบริหารจัดการน้ำที่น่าจะช้ากว่าที่คาด จึงเห็นสมควรให้ปรับลดจีดีพีลง แต่เชื่อว่าการเติบโตของจีดีพีไตรมาสต่อไตรมาสในครึ่งปีหลังจะไม่โตติดลบ แม้ฐานปีที่แล้วจะโตสูง เพราเศรษฐกิจไทยไม่ได้อยู่ในภาวะแย่ขนาดต้องโตติดลบ”
นายไพบูลย์ กล่าวว่า นโยบายการเงินในปัจจุบันผ่อนคลายอยู่แล้ว เพราะเมื่อเทียบกับเงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ยแท้จริงยังติดลบ และโดยหลักการ แม้จะใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายเพิ่มเติมอาจจะไม่มีผลมากนัก เนื่องจากสินเชื่อโตได้ระดับสูงอยู่แล้ว คนมีภาระหนี้สูงอยู่แล้ว ลดดอกเบี้ยอาจจะไม่ช่วยอะไร อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยโตระดับ 4.2% เงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ อัตราดอกเบี้ยนโยบายในปัจจุบัน 2.5% เหมาะสมกับเศรษฐกิจ แต่หากสถานการณ์เศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงจากที่คาดการณ์ไว้มากนโยบายการเงินก็พร้อมที่จะผ่อนคลายให้เหมาะสมต่อไป