“คลัง” จับตาการเมืองเริ่มเข้าโซนระอุ ผวาม็อบการเมืองซัดกันถึงเลือด ลากจีดีพีลงต่ำกว่า 4% กังวลรายได้รัฐเก็บได้ต่ำกว่าเป้า ขณะที่ ศก.โลกซบเซายังเป็นตัวฉุดส่งออกไม่สามารถฟื้นตัวได้ แถมเจอกำลังซื้อในประเทศแผ่ว และหนี้ครัวเรือนพุ่งไม่หยุด
นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวถึงทิศทางผลกระทบการเมืองต่อเศรษฐกิจไทย โดยยอมรับว่า สศค. อยู่ระหว่างติดตามสถานการณ์ทางเมืองอย่างใกล้ชิด หลังจากมีการประกาศ พ.ร.บ.ความมั่นคง เพื่อดูแลผู้ชุมนุมประท้วงรัฐบาลในวันที่ 1-10 ส.ค.นี้ โดย สศค.หวังว่าจะไม่มีเหตุไม่ดีเกิดขึ้น เพื่อที่เศรษฐกิจของไทยจะขยายได้ไม่น้อยกว่า 4% ต่อปี ตามที่ สศค.หวังไว้
“แน่นอนว่า หากมีความรุนแรงมีการปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่กับผู้ชุมนุมจนถึงบาดเจ็บล้มตาย จะกระทบเศรษฐกิจให้ขยายตัวไม่ถึง 4% ต่อปีได้”
นายสมชัยก ล่าวอีกว่า ยังเร็วเกินไปที่จะประเมินว่าความรุนแรงทางการเมืองจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจมากขนาดไหน จึงยังไม่มีมาตรการที่เตรียมไว้รองรับทางเศรษฐกิจในขณะนี้
ทั้งนี้ การขยายตัวทางเศรษฐกิจปีนี้ที่คาดว่าขยายตัวลดลงจากเดิมที่คาดว่าจะได้ 4.5% ต่อปี แต่ล่าสุด คาดว่าจะขยายตัวได้ 4% ต่อปี ก็ยังไม่กระทบต่อการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลที่ผ่านมา 9 เดือนของปีงบประมาณ 2556 เกินเป้าอยู่ 8 หมื่นล้านบาท แม้ว่า 3 เดือนสุดท้ายจะเก็บได้ต่ำกว่าเป้า แต่สุดท้ายการเก็บรายได้รัฐบาลทั้งปียังสามารถเกินเป้าได้เล็กน้อย สำหรับการจัดเก็บรายได้ปี 2557 ก็ยังสามารถทำได้ตามที่วางไว้
ด้านบริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด รายงานว่า ทิศทางเศรษฐกิจโลกที่ยังมีภาพที่คลุมเครือในช่วงครึ่งหลังของปี 2556 โดยเฉพาะจากความเปราะบางของสถานการณ์เศรษฐกิจจีน ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินสัญญาณการฟื้นตัวของการส่งออกไทยในช่วงครึ่งหลังของปีอย่างระมัดระวัง เนื่องจากจีนไม่ใช่เป็นแค่เพียงตลาดส่งออกหลักอันดับ 1 ของไทยเท่านั้น แต่จีนยังมีบทบาทเป็นคู่ค้ารายสำคัญของประเทศอื่นๆ ในอาเซียน ซึ่งย่อมจะมีผลทางอ้อมย้อนกลับมากระทบจังหวะการฟื้นตัวของสินค้าส่งออกบางรายการของไทยด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรฯ ยังคาดการณ์ว่า การส่งออกของไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2556 อาจเติบโตได้อย่างน้อย 3.0% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันกับปีก่อน หลังจากที่ขยายตัวในอัตราที่ค่อนข้างต่ำเพียง 1.2% ในช่วงครึ่งแรกของปี
สำหรับทิศทางการใช้จ่ายในประเทศนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรฯ มองว่า บรรยากาศการจับจ่ายใช้สอยของภาคเอกชนในช่วงครึ่งปีหลังน่าจะถูกปกคลุมไปด้วยภาพที่ซบเซาอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางความกังวลต่อประเด็นเรื่องค่าครองชีพ/ภาระหนี้ครัวเรือน รวมถึงการระมัดระวังการใช้จ่ายของภาคครัวเรือน และภาคธุรกิจในช่วงที่รอประเมินแนวโน้มสถานการณ์เศรษฐกิจ-การเมืองในประเทศ
ทั้งนี้ ภาพรวมเครื่องชี้เศรษฐกิจรายเดือนของไทยในระหว่างช่วงไตรมาส 2/2556 สะท้อนทิศทางของโมเมนตัมเศรษฐกิจที่หมุนช้าลงอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับช่วงไตรมาส 1/2556 ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า จีดีพีประจำไตรมาส 2/2556 น่าจะขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงมาที่กรอบประมาณ 2.0-3.0% หลังจากที่ขยายตัว 5.3% ในช่วงไตรมาสแรกที่ผ่านมา
อย่างไรก็ดี อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย มีโอกาสขยับขึ้นเล็กน้อยมาอยู่เหนือระดับ 5.0% อีกครั้งในช่วงไตรมาส 3/2556 โดยได้รับอานิสงส์จากฐานมูลค่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ต่ำในช่วงเดียวกันปีก่อน
สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปี 2556 ศูนย์วิจัยกสิกรฯ ยังคงกรอบประมาณการอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยไว้ที่ 3.8-4.3% (โดยมีค่ากลางกรณีพื้นฐานที่ร้อยละ 4.0) ซึ่งก็เท่ากับว่า เศรษฐกิจไทยคงไม่สามารถหลีกเลี่ยงทิศทางที่แผ่วลงจากปี 2555 ซึ่งขยายตัวประมาณ 6.5%