ตลท.เผยครึ่งปีแรกยอดซื้อขายทะลุเป้าถึง 90% จากกระแสนักลงทุนที่นิยมลงทุนในหุ้นมากขึ้น เตรียมรุกนักลงทุนจีน ญี่ปุ่น ตะวันออกกลาง และสแกนดิเนเวียในครึ่งปีหลัง กระจายความเสี่ยงจากสถานการณ์เงินผันผวน ด้าน “ชนิตร” คาดครึ่งปีหลังมีบริษัทจดทะเบียนเตรียมเข้ามาเทรดอีกไม่ต่ำกว่า 30 บริษัท จากที่ครึ่งปีแรกระดมทุนไปแล้วกว่า 8.5 หมื่นล้าน
นายจรัมพร โชติกเสถียร กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือ ตลท. กล่าวว่า โดยสรุปภาพรวมครึ่งปีแรกจากมูลค่าของการซื้อขายหลักทรัพย์ของตลาดหุันไทยในครึ่งปีแรกของปี 56 นี้ โดยเฉลี่ยปรับเพิ่มขึ้นจากเดิมที่มีมูลค่าการซื้อขายต่อวันที่ 32,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเป็น 61,487 ล้านบาท หรือคิดเป็น 90% ในส่วนของปริมาณซื้อขายสัญญาล่วงหน้าจากเป้าเดิมที่ 50,000 สัญญาต่อวัน ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 78,656 สัญญา หรือเพิ่มขึ้น 79%
ในส่วนของ มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Capitalization) ในครึ่งปีแรกนั้น เป้าหมายของหลักทรัพย์จดทะเบียนใหม่ที่ตั้งไว้เดิมที่ 120,000 ล้าน สามารถทะลุเป้าไปถึง 149,739 ล้านบาท โดยมีหลักทรัพย์ที่เข้ามาจดทะเบียนใหม่แบ่งเป็น ในตลาดหลักทรัพย์ SET จำนวน 6 บริษัท ในตลาดหลักทรัพย์ mai จำนวน 7 บริษัท ใน Property Fund จำนวน 3 กองทุน และกองทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ หรือ Infrastructure Fund อีก 1 กองทุนคือ BTSGIF ทั้งนี้ บริษัทที่จดทะเบียนระดมทุนเพิ่มในครึ่งปีแรกที่ตั้งเป้าหมายไว้ที่ 100,000 ล้านบาท สามารถระดมทุนในตลาดหุ้นไทยได้ถึง 104,778 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ตลท.ได้กำหนดเป้าหมายในการเพิ่มผู้ลงทุนรายใหม่จากเป้าหมายที่วางไว้เดิม 70,000 ราย โดยครึ่งปีแรกมีผู้ลงทุนรายใหม่กว่า 69,479 ราย หรือคิดเป็นจำนวนทั้งหมดจนถึงปัจจุบันที่ 575,599 ราย ในส่วนของเป้าหมายบัญชีอินเทอร์เน็ตรายใหม่ในครึ่งปีแรกที่ 120,000 บัญชี ซึ่งขณะนี้สามารถเพิ่มบัญชีอินเทอร์เน็ตได้แล้วกว่า 90,316 บัญชี
ขณะเดียวกัน ตลท.ได้วางแผนระดุมทุนจากนักลงทุนต่างประเทศรายใหม่เพื่อหลีกเลี่ยงความเสียงจากสถานการณ์ผันผวนของเศรษฐกิจ โดยเตรียมจัดโรดโชว์ ของบริษัทจดทะเบียนที่มีศักยภาพดีไปยังประเทศสิงคโปร์ มาเลเซีย และตลาดทุนสำคัญในกลุ่มประเทศยุโรป 6 ประเทศ ตลอดทั้งยังเพิ่มนักลงทุนต่างประเทศจากประเทศที่มีฐานการเงินเข้มแข็ง เช่น จีน ญี่ปุ่น ตะวันออกกลาง และแถบสแกนดิเนเวีย
ทั้งนี้ หากเทียบสัดส่วนของนักลงทุนในครึ่งปีแรกพบว่า นักลงทุนในประเทศมีมูลค่าการซื้อขายสุทธิเฉลี่ยต่อวันที่ 37,222 ล้านบาท คิดเป็น 60.5% รองลงมาได้แก่ นักลงทุนต่างประเทศที่ซื้อขายสุทธิเฉลี่ยต่อวันที่ 12,234 ล้านบาท หรือคิดเป็น 20% ส่วนนักลงทุนสถาบันมีมูลค่าการซื้อขายสุทธิเฉลี่ยต่อวันที่ 4,861 ล้านบาท คิดเป็น 7.9% ในขณะที่บริษัทหลักทรัพย์ มีมูลค่าการซื้อขายสุทธิเฉลี่ยต่อวันที่ 7,168 ล้านบาท หรือคิดเป็น 11.7%
อย่างไรก็ดี ในครึ่งปีหลัง ตลท.จะเน้นการลงทุนในรูปแบบใหม่คือ Holding Company ที่มีกิจการและการลงทุนในต่างประเทศ เข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งได้เข้าจดทะเบียนซื้อขายไปแล้ว 1 บริษัท คือ บมจ.ซีเค พาวเวอร์ หรือ CKP ผู้ลงทุนในธุรกิจผลิตและจำหน่ายพลังงานไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานหลากหลายประเภท และบริษัทที่กำลังยื่นขอเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ อีก 1 บริษัท โดยอยู่ในช่วงของการพิจารณา คือ บมจ.อมตะ วีเอ็น หรือ AMATAV ผู้ลงทุนในธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง
ด้านนายชนิตร ชาญชัยณรงค์ รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานผู้ออกหลักทรัพย์และบริษัทจดทะเบียน และผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) กล่าวว่า มูลค่าการระดมทุนของบริษัทจดทะเบียนในครึ่งปีแรกแยกตามตลาด SET, mai, Future เฉลี่ยมีเม็ดเงินที่ได้จากการระดมทุนทั้งสิ้นเฉลี่ย 85,000 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นในตลาด SET INDEX มีบริษัทเข้าจดทะเบียน 6 บริษัท สามารถระดมทุนได้ถึง 12,000 ล้านบาท ในตลาด mai มีบริษัทเข้าจดทะเบียน 7 บริษัท สามารถระดมทุนได้ถึง 6,700 ล้านบาท กองทุน Property Fund จำนวน 3 กองทุน สามารถระดมทุนได้ถึง 4,100 ล้านบาท และกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน สามารถระดมทุนได้ถึง 62,500 ล้านบาท ทั้งนี้ ในไตรมาสที่ 3 คาดว่าบริษัทจดทะเบียนที่ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูล (filing) ความจำนงขอเข้าจดทะเบียนซื้อขายโดยอยู่ในช่วงของการพิจารณา ประมาณ 15 บริษัท โดยมีบริษัทที่อยู่ในช่วงระหว่างการพิจารณาของ ก.ล.ต.ประมาณ 20 บริษัท และภายในสิ้นปีนี้น่าจะมีบริษัทที่สามารถเข้าจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพิ่มขึ้นอีกประมาณ 30 บริษัท