กรุงศรีฯ ยันมิตซูฯ เข้าซื้อหุ้นยังไม่กระทบแผนงาน ระบุเป้าหมาย-แนวนโยบายยังคงเดิม รอปลายปีหลังปิดดีลจึงจะมีความชัดเจน คาดใช้เป็นฐานรุกอาเซียน พร้อมเดินหน้าลุยธุรกิจต่อ ล่าสุด ปรับโฉมบัตรเดบิตแมนยูฯ หวังมียอดเพิ่มทั้งบัตรเครดิต-เดบิต 5 หมื่นใบสิ้นปีนี้
นายกฤษณ์ จันทโนทก ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานธุรกิจเงินฝาก การลงทุน ประกันภัยและธนบดี ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในปีนี้เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบาบของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่สนับสนุนให้ใช้บัตรเดบิตแทนการใช้เงินสดมากขึ้น ธนาคารจึงได้ออกบัตรเดบิตแมนเชสเตอร์ ยูๆนเต็ด ลายหน้าบัตรใหม่เพื่อตอบโจทย์ของผู้ที่ชื่นชอบทีมดังกล่าว
“แม้ว่าแบงก์ชาติต้องการสนับสนุนให้มีการใช้บัตรเดบิตแทนเงินสดให้มากขึ้น แต่ปัจจุบันเมื่อเทียบยอดใช้จ่ายระหว่างบัตรเดบิตกับเงินสดแล้ว ยังห่างกันมาก ซึ่งการออกบัตรเดบิตแมนยูฯ นี้เชื่อว่าจะเพิ่มยอดผู้ถือ และใช้จ่ายด้วยบัตรเดบิตมากขึ้น โดยในช่วงที่ผ่านมา ยอดการใช้จ่ายผ่านบัตรแมนยูฯ สูงกว่าบัตรอื่น 15-20% และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง”
สำหรับปัจจุบัน ฐานบัตรเดบิตแมนเชสเตอร์ฯ กว่า 100,000 ใบ ขณะที่ฐานบัตรเครดิตแมนเชสเตอรฯ มีมากกว่า 50,000 ใบ ซึ่งเชื่อว่าจากการเปลี่ยนรูปลักษณ์ และสิทธิประโยชน์ที่มีให้ จะทำให้มีผู้สนใจสมัครบัตรใหม่ ทั้งบัตรเดบิต และเครดิตประมาณ 50,000 ใบในสิ้นปีนี้
ยันปีนี้ยังคงแผน-เป้าหมายเดิม
ส่วนกรณีที่ธนาคารที่มิตซูบิชิ ยูเอฟเจ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป (MUFG) มีเจตนารมณ์จะเข้ามาซื้อหุ้นของธนาคารจากกลุ่มจีอีในสัดส่วน 25% นั้น นายกฤษณ์ กล่าวว่า ขณะนี้ผู้บริหารชุดเดิมยังคงเป้าหมายในการดำเนินธุรกิจไว้เช่นเดิม โจทย์ทุกอย่างยังเดิม จนกว่าทุกอย่างจะมีความแน่นอนที่สุดก็คือเมื่อทำสัญญาซื้อขายสิ้นสุด
“ขณะนี้ทางแบงก์ญี่ปุ่นยังไม่ได้เป็นผู้ถือหุ้นใหม่ เดือน 11 จะทำสัญญา เดือน 12 เสร็จสิ้น ตรงนั้นจึงจะค่อยว่ากัน ตอนนี้ยังไม่ทำอะไรเตรียมไว้ หรือหยุดเพื่อเตรียมจะทำอะไรโจทย์เดิม เป้าหมายเดิม ไม่มีทำขาดทำเกิน”
ด้านเป้าหมายการระดมเงินฝากในปีนี้ ยังคงสอดคล้องกับการเติบโตของสินเชื่อ คิดประมาณ 12% และเป็นเงินฝาก casa ประมาณ 50%
คาดในกรุงศรีฯ เป็นกลางขยายสู่ภูมิภาค
นายฐากร ปิยะพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ กรุงศรี คอนซูเมอร์ กล่าวว่า การเข้ามาถือหุ้นของกลุ่ม MUFG นั้น น่าจะเป็นการใช้จุดแข็งของแต่ละแห่งร่วมกัน โดยเฉพาะการใช้ธนาคารเป็นศูนย์กลางในการขยายธุรกิจไปสู่ภูมิภาค ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นก็จะสอดคล้องกับทิศทางของธนาคารที่จะขยายออกไปสู่ภูมิภาคอาเซียน โดยที่ผ่านมา ได้ขยายสำนักงานไปที่ประเทศลาว ผ่านทางศรีสวัสดิ์เงินติดล้อ และอยู่ระหว่างการศึกษาการขยายธุรกิจไปในประเทศพม่า และกัมพูชาต่อไป
“กลุ่มมิตซูฯ ที่จะเข้ามาก็คงจะมีแนวทางเอื้อต่อการทำธุรกิจของกันและกัน จะเข้ามารุกรายย่อย แข่งกันนอนแบงก์ญี่ปุ่นที่ทำอยู่ที่นี่อยู่แล้ว ก็คงลำบาก แล้วเราก็เป็นเจ้าตลาดอยู่แล้ว คิดว่าน่าจะใช้แบงก์เป็นศูนย์กลางในการขยายตัวไปสู่ภูมิภาคอีกที ซึ่งตรงนี้เป็นการคาดการณ์เท่านั้น จะแน่นอนก็ต้องรอการเข้ามาอย่างแน่นอน ก็น่าจะเป็นต้นปี”
ครึ่งปีหลังเร่งเครื่องกรุงศรีคอนซูเมอร์
สำหรับการดำเนินนโยบายของกรุงศรีฯ คอนซูเมอร์นั้น ก็จะเร่งเครื่องขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง โดยมีฐานลูกค้าของเฟิร์สช้อยส์เป็นแกนนำ ซึ่งมีเป้าหมายที่จะเพิ่มสาขาอีก 21 แห่งภายในสิ้นปีนี้ และจะเน้นที่สาขาในห้างสรรพสินค้าเป็นหลัก ขณะเดียวกัน ก็จะมีการปรับกลยุทธ์ในส่วนของบัตรอื่นๆที่ขยายตัวไม่มาก เช่น บัตรเซ็นทรัลการ์ด ซึ่งมียอดใช้จ่ายผ่านบัตรเติบโตแค่ 7% ขณะที่บัตรโดยรวมมียอดเพิ่มขึ้น 10-12% ซึ่งก็คงต้องโฟกัสในการร่วมแคมเปญกับบัตรอื่นๆ ในเครือให้ขยายในวงกว้างขึ้น เป็นต้น
นายฐากร กล่าวอีกว่า เท่าที่ดูเรื่องฟองสบู่ภาคอสังหาริมทรัพย์ หรือหนี้ภาคครัวเรือนที่มากนั้น ก็มีสัญญาณที่เห็นอยู่ แต่ยังไม่ได้มีมาถึงตัวเลขการผิดนัดชำระหนี้ที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัย โดยเฉพาะในส่วนของบัตรเครดิต กลุ่มที่น่าจับตาน่าจะเป็นกลุ่มที่มีรายได้ต่ำกว่า 1 หมื่นบาทต่อเดือน กับกลุ่มที่ไม่มีรายได้ประจำ ซึ่งในส่วนของกรุงศรีคอนซูเมอร์ก็ได้มีความระมัดระวังในการพิจารณาในเกณฑ์การอนุมัติอยู่แล้ว โดยมีสัดส่วนการอนุมัติบัตรเครดิตที่ 50-55% สินเชื่อส่วนบุคคลที่ 40-45% และในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ก็ยังมียอดการขอบัตรเครดิตในระดับทรงๆ ตัว ไม่ได้ลดลง
“สิ่งที่เราพบก็คือ ค่าครองชีพที่สูงขึ้น ทำให้คนทั่วๆ ไปใช้ชีวิตได้ยากลำบากขึ้น ซึ่งก็หมายถึงความสามารถในการชำระหนี้น้อยลง คือมันอาจจะไม่ใช่มีเพิ่มขึ้นก็ได้ แต่อะไรๆ ที่แพงขึ้น มันก็ทำให้เขาใช้ชีวิตลำบากขึ้น”