xs
xsm
sm
md
lg

“เวิลด์แบงก์” ยอมรับโครงการกู้ 2 ล้านล้าน อาจสะดุด แนะใช้วิชาโยกเข้างบรายจ่ายประจำปี 57

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ธนาคารโลก” เตรียมปรับประมาณการ “จีดีพี” ของไทย ปี 56 ในเดือนหน้า ยอมรับ โครงการเงินกู้ 2 ล้านล้าน อาจสะดุด หากขัด รธน. อาจส่งผลต่อความเชื่อมั่น แต่ก็ขึ้นอยู่กับฝีมือภาครัฐจะสามารถโยกงบลงทุนฯ มาอยู่ในงบประมาณรายจ่าย ประจำปี 2557 ได้หรือไม่ แต่หากยังเหลวก็สามารถใช้วิธีการระดมเงินผ่านตลาดทุน หรือเปิดให้เอกชนเข้ามาร่วมบริหาร

น.ส.กิริฎา เภาพิจิตร นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารโลก ประจำประเทศไทย กล่าวว่า ในเดือนสิงหาคมนี้ ธนาคารโลกเตรียมปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยใหม่ จากเดิมที่มองว่าอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ (จีดีพี) ปีนี้จะเติบโตที่ร้อยละ 5 และส่งออกเติบโตร้อยละ 7 เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกยังไม่ชัดเจน ประกอบกับธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ประกาศจะถอนมาตรการอัดฉีดสภาพคล่อง (คิวอี) เร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ และเศรษฐกิจจีนชะลอตัวลงเร็ว ซึ่งจะกระทบต่อการเติบโตของภาคการส่งออกไทย ขณะที่กำลังซื้อภายในประเทศเริ่มแผ่วลง ดังนั้น การเติบโตของเศรษฐกิจปีนี้คงต้องอาศัยโครงการลงทุนจากภาครัฐเป็นหลัก

อย่างไรก็ตาม กรณีที่ พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท อาจขัดต่อรัฐธรรมนูญนั้น หากขัดต่อรัฐธรรมนูญจริงคงส่งผลต่อความเชื่อมั่น และอาจทำให้การลงทุนล่าช้าออกไป แต่ก็ขึ้นอยู่กับภาครัฐจะสามารถโยกงบประมาณการลงทุนมาอยู่ในงบประมาณรายจ่าย ประจำปี 2557 ได้หรือไม่ โดยอาจเป็นการจัดสรรงบประมาณกลางปี เพื่อให้สามารถเบิกจ่ายเม็ดเงินลงทุนในโครงการได้ตามแผน

ทั้งนี้ ธนาคารโลกยังเสนอว่า รัฐบาลสามารถใช้วิธีการระดมเงินผ่านตลาดทุน เพื่อลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน หรือเปิดให้เอกชนเข้ามาร่วมบริหารในโครงการ เช่น การลงทุนในโครงการรถไฟรางคู่ โดยเมื่อรัฐบาลลงทุนในระบบรางก็สามารถนำสินทรัพย์มาเปิดขายให้แก่ภาคเอกชน เพื่อนำเงินใช้หนี้ที่กู้ยืม หรือบางโครงการสามารถระดมทุนผ่านกองทุนโครงสร้างพื้นฐานด้วยการเปิดขายหน่วยลงทุน เชื่อว่าจะได้รับความสนใจจากนักลงทุนจำนวนมาก และสามารถระดมทุนได้ 90,000 ล้านบาท ซึ่งสามารถลดภาระการใช้จ่าย และลดการก่อหนี้สาธารณะของรัฐบาลลงน้อยกว่าร้อยละ 50 ของจีดีพี

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลต้องเปิดให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการเข้าไปตรวจสอบขั้นตอนดำเนินการ และรัฐบาลควรเปิดเผยข้อมูลเพื่อลดปัญหาการคอร์รัปชัน พร้อมกันนี้ รัฐบาลต้องเตรียมความพร้อมด้านแรงงาน ซึ่งมีการคาดการณ์ว่า ในปีนี้ไทยจะขาดแคลนแรงงานประมาณ 1,650,000 คน และขาดแคลนแรงงานเพิ่มขึ้นประมาณ 100,000-200,000 คน/ปี ดังนั้น รัฐบาลต้องมีการจัดทำฐานข้อมูลด้านอุปสงค์ และอุปทานแรงงาน ทั้งระดับประเทศ และจังหวัด พร้อมเร่งพัฒนาทักษะฝีมือ และศักยภาพแรงงานที่มีทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ หรืออาจต้องมีการนำเข้าแรงงานจากต่างประเทศ
กำลังโหลดความคิดเห็น