หนองคาย - นายกรัฐมนตรีมอบนโยบายพร้อมแจงโครงการของรัฐ เดินหน้า พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท ชี้แจงความจำเป็นแก่ชาวหนองคายฟัง พร้อมดันหนองคายเป็น HUB ของภาคอีสาน รับข้อเสนอของภาคเอกชน หนุนเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนรองรับ AEC
เมื่อเวลา 15.00 น.วันนี้ (16 พ.ค.) ที่หอประชุมประจักษ์ศิลปาคม ศูนย์ราชการ จ.หนองคาย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รมว.คมนาคม, นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รมว.มหาดไทย, พล.ต.ต.ธวัช บุญเฟื่อง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี, พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผบ.ตร.และคณะ ได้เดินทางมามอบนโยบายแก่ข้าราชการจังหวัดหนองคาย และพบกับกลุ่มมวลชน กลุ่มองค์กรสตรีในพื้นที่จังหวัดหนองคาย มีนายวิรัตน์ ลิ้มสุวัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย นำคณะเข้ารับฟังนโยบายและให้การต้อนรับ
โดยมี ว่าที่ร้อยตรี พงศ์พันธ์ สุนทรชัย ส.ส.หนองคายเขต 1 เป็นตัวแทนประชาชน เสนอโครงการสำคัญที่จังหวัดหนองคายต้องการ ร่วมกับนายวีระชัยโชค มงคลภูมิรัตน์ ในฐานะเป็นตัวแทน 8 องค์กรภาคเอกชนของจังหวัดหนองคาย เสนอความต้องการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและการลงทุนแก่คณะนายกรัฐมนตรีท่ามกลางชาวหนองคายที่มารอต้อนรับกันอย่างล้นหลาม
หลังจากมอบนโยบายแล้ว นายกรัฐมนตรีได้เดินทางไปชมการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ประจำด่านพรมแดนสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 1 จังหวัดหนองคาย
น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า ในช่วงเช้าได้ปฏิบัติภารกิจวางศิลาฤกษ์ก่อสร้างศาลากลางจังหวัดบึงกาฬ แล้วจึงเดินทางต่อมายังจังหวัดหนองคาย ซึ่งจังหวัดหนองคายถือเป็นโอกาสดี เพราะเป็นจังหวัดที่มีความสำคัญในอนาคต เป็นประตูสู่อาเซียน มีหลายโครงการที่พร้อมให้การสนับสนุนและผลักดันให้หนองคายเป็น Hub ของภาคอีสาน
โดยครั้งนี้ต้องการย้ำนโยบายของรัฐบาลและแจกแจง พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท ให้ประชาชนชาวหนองคายได้ทราบว่ามีความจำเป็นที่รัฐโดยกระทรวงการคลังจะต้องกู้เงินจำนวนนี้ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับการเจริญเติบโตของประเทศไทย โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานทางการคมนาคม รถไฟรางคู่ รถไฟความเร็วสูง ยืนยันว่าจะมาถึงหนองคายอย่างแน่นอน
ชาวหนองคายจะได้ใช้รถไฟความเร็วสูงและรถไฟรางคู่ ไม่ช้ากว่าเส้นทางสายอื่น โดยจะมีการประชุมร่วม 3 ประเทศ คือ ไทย-ลาว-จีน เกี่ยวกับรถไฟความเร็วสูงและเส้นทางเศรษฐกิจ และพยายามจะให้เกิดขึ้นในสมัยของตนเอง หรือในอนาคตรัฐบาลชุดไหนก็จะต้องทำรถไฟความเร็วสูงมาถึงหนองคายแน่นอนเพราะบรรจุเรื่องนี้ไว้ใน พ.ร.บ.และข้อกฎหมายไว้แล้ว
จากที่ได้ศึกษาข้อมูล อยากให้จังหวัดหนองคายและอีกหลายจังหวัดภาคเหนือ ทำการเกษตรสีเขียว ผลิตผลผลิตสู่อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร และอยากให้ทางจังหวัดจัดทำยุทธศาสตร์ให้ชัดเจน เช่นเดียวกับการส่งเสริมการค้าชายแดน เขตเศรษฐกิจพิเศษตามที่ภาคเอกชนต้องการก็สอดคล้องกับแนวคิดของรัฐบาล จะมีการเจรจาระหว่างไทย-ลาว-เวียดนาม และจีน เพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ซึ่งในวันที่ 19 พ.ค.นี้จะมีการหารือคณะกรรมการร่วมไทย-ลาว ที่จังหวัดเชียงใหม่ ทั้งฝ่ายคมนาคมและความมั่นคง จะพูดคุยถึงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ภาคการเกษตร จัดเกษตรโซนนิ่งให้เหมาะสมกับพื้นที่และปริมาณน้ำ รัฐจะบูรณาการแก้ปัญหาน้ำระยะยาวทั้งน้ำแล้งและน้ำท่วมให้เป็นระบบ
น.ส.ยิ่งลักษณ์ยังกล่าวอีกว่า จะรับข้อเสนอและความต้องการของภาคประชาชนและภาคเอกชนชาวหนองคาย ทั้งการขอยกฐานะมหาวิทยาลัยขอนแก่น วิทยาเขตหนองคาย เป็น มหาวิทยาลัยหนองคาย การขอทุนการศึกษาให้กับประเทศเพื่อนบ้านให้มาเรียนที่หนองคาย, การสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงคู่ขนานกับสะพานแห่งแรกเพื่อระบายรถแก้ปัญหาการจราจรบนสะพาน เหล่านี้จะรับเข้าพิจารณาร่วมกับกระทรวงที่เกี่ยวข้องในลำดับต่อไป