ธุรกิจซบเซา สัญญาณ ศก. ชะลอตัว แบงก์ยอมรับ “มนุษย์เงินเดือน” รายได้ต่ำกว่า 2 หมื่นบาท กำลังเผชิญกับปัญหาหนี้ท่วม กู้ไม่ผ่านเพียบ ต้องแบกภาระผ่อนรถคันแรกเพราะเป็นกลุ่มเดียวกัน ขณะที่สหพัฒน์ยอมรับประชาชนกำลังซื้อหดตัวอย่างหนัก
นายวิชิต พยุหนาวีชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวชี้แจงกรณีกระแสข่าวลูกค้าธนาคารเข้มงวดสินเชื่อบ้านทำให้กู้ไม่ผ่าน โดยยืนยันว่า ธนาคารยังคงยึดเงื่อนไขการกู้บ้านอย่างเดิม ไม่ได้มีการปรับเปลี่ยนให้เข้มงวดขึ้น หรือปล่อยง่ายขึ้น
ทั้งนี้ การที่ลูกค้าที่กู้เงินซื้อบ้านไม่ผ่านส่วนใหญ่เป็นผลจากภาระหนี้ของลูกค้าที่มากขึ้นเอง ทำให้ธนาคารไม่สามารถปล่อยกู้ได้ เพราะช่วงนี้มีความเป็นไปได้ที่ลูกค้าจะมีหนี้สินเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าที่มีรายได้ต่ำกว่าเดือนละ 2 หมื่นบาท สะท้อนได้จากโครงการบ้านระดับกลางลงล่างที่ออกมายอมรับว่า ลูกค้าไม่สามารถซื้อบ้านได้เพราะมีหนี้เพิ่ม
สำหรับลูกค้าของธนาคารกู้บ้านเฉลี่ยหลังละ 3 ล้านบาท ซึ่งต้องมีเงินเดือนเฉลี่ย 4 หมื่นบาทขึ้นไป เพราะอัตราการผ่อนบ้านกู้ 1 ล้านบาท ต้องผ่อนเดือนละ 6,000-7,000 บาท
นายชาติชาย พยุหนาวีชัย รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ลูกค้าที่มีรายได้ต่ำกว่าเดือนละ 2 หมื่นบาท หากมีภาระหนี้ผ่อนรถ และหนี้อื่นจะกู้บ้านได้ยากขึ้น เพราะธนาคารส่วนใหญ่จะพิจารณาภาระหนี้ไม่เกิน 40% ของรายได้ เท่ากับหากมีรายได้เดือนละ 2 หมื่นบาท ต้องมีหนี้รวมทุกอย่างไม่เกินเดือนละ 8,000 บาท
ทั้งนี้ หากมีรายได้เดือนละ 2 หมื่นบาท จะกู้บ้านได้ในราคา 1 ล้านบาท อัตราการผ่อนจะอยู่ที่เดือนละประมาณ 8,000 บาท เท่ากับลูกค้าไม่สามารถก่อหนี้อื่นได้อีก ดังนั้น หากผ่อนรถยนต์คันแรกอยู่แล้วทำให้ระหว่างนี้ไม่สามารถกู้ซื้อบ้านได้
“กลุ่มคนที่ซื้อรถยนต์คันแรกกับกลุ่มที่อยากมีบ้านหลังแรกจะเป็นคนกลุ่มเดียวกันคือ เพิ่งทำงาน ฉะนั้น ก็ต้องผ่อนรถให้หมดก่อนถึงซื้อบ้านได้ กู้รถก็เลยอาจกู้บ้านไม่ผ่าน”
ปัจจุบัน กลุ่มลูกค้าที่มีรายได้ต่ำกว่า 3 หมื่นบาทลงมา จะเป็นกลุ่มที่ถูกปฏิเสธการปล่อยกู้มากที่สุดประมาณ 40% เพราะรายได้ที่จะนำมาผ่อนบ้านไม่พอ ปัจจุบันธนาคารปล่อยกู้บ้านเฉลี่ยหลังละ 2.5 ล้านบาท เงินเดือนเฉลี่ย 5 หมื่นบาท
ด้านนายบุณยสิทธิ์ โชควัฒนา ประธานเครือสหพัฒน์ ยอมรับว่า ธุรกิจเริ่มซบเซาเพราะประชาชนมีกำลังซื้อต่ำลง ซึ่งประเมินจากรายได้ทั้งเครือปีนี้ ได้ตั้งเป้าเติบโตไว้ที่ 4-5% ถือว่าต่ำที่สุดในรอบ 10 ปี จากปกติเติบโต 10% เนื่องจากธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภค โดยเฉพาะของใช้ในชีวิตประจำวันได้รับผลกระทบจากกำลังการซื้อของผู้บริโภคที่ลดลง และหากย้อนไปเมื่อหลายปีทีผ่านมา เครือสหพัฒน์มีรายได้เติบโต 20%