ชัดเจน! 1 อ.1 ทุน รุ่น 4 เป็น 1 อำเภอ 2 ทุน แจกโอกาสทั้งเด็กเรียนเก่งและเด็กเรียนดีแต่ยากจน เน้นเลือกเรียนในประเทศที่ไม่ได้พูดภาษาอังกฤษ ยกเว้นเลือกเรียนสายขาดแคลนไปได้ทั่วโลก เริ่มเปิดรับสมัคร 24 ธ.ค.ถึง 31 ม.ค.56
นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน ครั้งที่ 3/2555 ว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบให้การดำเนินโครงการ 1 อ.1 ทุน รุ่นที่ 4 ต่อ แต่เพิ่มเป็นอำเภอละ 2 ทุน โดยทุนประเภทแรก จะกลับไปสู่จุดเริ่มต้นของโครงการนี้ เป็นการแจกทุนเรียนต่อต่างประเทศให้เด็กยากจนแต่เรียนดีในแต่ละอำเภอ นักเรียนที่มีสิทธิชิงทุนประเภทนี้ ต้องมาจากครอบครัวที่มีรายได้ต่ำกว่า 2 แสนบาทต่อปี ส่วนทุนประเภทที่ 2 เป็นทุนให้สำหรับเด็กเก่งในแต่ละอำเภอ ที่ต้องมาสอบแข่งขันกันเพื่อเข้าร่วมโครงการโดยไม่ดูที่ฐานะครอบครัวของนักเรียนและมีเงื่อนไข ว่า ต้องเลือกเรียนต่อในสาขาขาดแคลน เช่น สาขาทางด้านวิทยาศาสตร์ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ทุนรุ่นที่ 4 นั้นนักเรียนทุนจะต้องเลือกเรียนต่อในประเทศที่ไม่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาแม่ เพราะต้องการส่งเสริมให้คนไทยได้เรียนรู้ภาษาอื่นด้วย ยกเว้นถ้านักเรียนเลือกเรียนต่อในสาขาขาดแคลน โดยเฉพาะ แพทยศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์สามารถเลือกเรียนในประเทศใดๆ ก็ได้ รวมถึงประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษด้วย เมื่อศึกษาสำเร็จแล้ว มีเงื่อนไขให้นักเรียนทุนทุกคนต้องกลับมาทำงานในประเทศไทย จะเลือกทำงานในภาครัฐหรือเอกชนก็ได้
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม ทุนรุ่น 4 นี้ จะเปิดกว้างให้นักเรียน ม.5 เข้าร่วมการสอบชิงทุนด้วย เพราะบางสาขาวิชา โดยเฉพาะทางด้านวิทยาศาสตร์ ถ้ามีเวลาเตรียมตัว 2 ปี นักเรียนจะมีความพร้อมสำหรับการเรียนในต่างประเทศมากขึ้น ช่วยลดปัญหานักเรียนขอเปลี่ยนสายเรียน หรือขอเปลี่ยนกลับมาเรียนในประเทศแทน ซึ่งโครงการ1 อำเภอ 1 ทุน สองรุ่นแรกนั้น มีนักเรียนที่เรียนไม่ได้ ขอกลับมาเรียนในประเทศแทน ประมาณ 23% ทั้งนี้ ได้เตรียมงบประมาณปี 2556 ไว้ดำเนินการ 395 ล้านบาท
“อยากประชาสัมพันธ์ให้นักเรียนมาสมัครชิงทุนนี้เยอะๆ โดยจะเปิดรับสมัครตั้งแต่ 24 ธ.ค. ถึง 31 ม.ค. นี้ ทั้งนี้ นักเรียนที่สมัครชิงทุนทั้ง 2 ประเภท จะต้องสอบข้อเขียนในวิชาสังคมศึกษา คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และภาษาอังกฤษ และนักเรียนที่สอบผ่านข้อเขียนแล้ว จะต้องมีการตรวจร่างกายแล้วนำใบรับรองแพทย์มาแสดงด้วย เพราะบางครั้ง นักเรียนไปเรียนทั้งที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคสมาธิสั้น โรคไต โรคไทรอยต์ ซึ่งมากระทบต่อการเรียนของเจ้าตัวในภายหลัง” นายพงศ์เทพ กล่าวและว่า