2 อดีตขุนคลัง 2 รัฐบาล ฟันธง “จำนำข้าว” อาจนำ ศก.ประเทศสู่หายนะ “หม่อมอุ๋ย” ยอมรับข้อมูลเจ๊ง 2 แสนล้าน ถูกต้อง หากดันทุรังทำต่อไทยโดนหั่นเครดิตแน่ แนะให้เลิก “ทิฐิ” เพราะวิธีนี้ประเทศชาติเสียหายมาก ต้องหาวิธีอื่นยกระดับ “ชาวนา” และถึงเวลาที่ต้องใช้สมองบ้างแล้ว “ธีระชัย” หนุนระบบเดิม “ประกันราคา” เงินตกถึงมือชาวนาเต็มเม็ดเต็มหน่วย แถมไม่เป็นภาระงบประมาณ
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลออกมาแถลงปฏิเสธตัวเลขการขาดทุนโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล 260,000 ล้านบาท ตามข้อมูลของคณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำสินค้าเกษตรก่อนหน้านี้ และการคาดการณ์ของสถาบันจัดอันดับเครดิต มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอวิส โดยมองว่าโครงการนี้จะขาดทุนถึง 200,000 ล้านบาทนั้น ถือว่าเป็นตัวเลขที่ถูกต้อง ซึ่งถึงแม้ว่าภายหลัง มูดี้ส์ จะออกมาไม่นำมาใช้ในการพิจารณาลดอันดับเครดิตไทยก็ตาม แต่หากรัฐบาลยังคงดำเนินโครงการนี้ต่อไป และขาดทุนเพิ่มสูงขึ้นก็เป็นไปได้ที่จะส่งผลต่อตัวเลขหนี้สาธารณะ และมูดี้ส์ก็อาจจะนำมาใช้พิจารณาการจัดอันดับเครดิตไทย
“เชื่อว่าขาดทุนปีเดียวคงไม่ถึงกับทำให้มูดี้ส์ลดอันดับเครดิตไทย เพราะการขาดทุนปีเดียวยังพอรับได้ เนื่องจากยอดหนี้สาธารณะยังไม่สูงนัก แต่สิ่งที่คิดต่อไปได้คือ ปีการผลิต 2555/2556 จะขาดทุนอีกเท่าไหร่ หรือในอนาคตจะหยุดหรือไม่ ถ้ายังเดินต่อ มูดี้ส์ จะคิดได้เลยว่าต้องขาดทุนปีละ 2 แสนล้านบาท เป็นแบบนี้เรตติ้งก็จะตก ส่วนข้อมูลขาดทุน 2 แสนล้านบาทนั้นเชื่อว่ามูดี้ส์ใช้ข้อมูลที่เป็นเหตุเป็นผล และอาจจะน้อยกว่าความเป็นจริงด้วยซ้ำ”
นอกจากนี้ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง บอกด้วยว่า รัฐบาลควรยกเลิกโครงการรับจำนำ และหาโครงการอื่นๆ ที่สามารถทำให้ชาวนาได้รับผลประโยชน์ที่เต็มเม็ดเต็มหน่วย และเป็นการยกระดับคุณภาพชาวนา เพระว่าการเสียหายจากโครงการนี้ส่งผลต่อคุณภาพข้าวเสื่อม อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่เพิ่มขึ้น รวมถึงความเสียหายอื่นๆ ซึ่งชาวนาจริงๆ ที่ได้ประโยชน์มีเพียง 1 ใน 3 หรือประมาณ 40% ของงบประมาณโครงการ
“ดังนั้น ทางออกที่รัฐบาลจะลดราคาจำนำข้าว จะยิ่งทำให้ชาวนาได้ประโยชน์น้อยลงอีก เพราะส่วนที่สูญเสียจากข้าวที่เสื่อมคุณภาพ อัตราดอกเบี้ยยังมีอยู่ เพราะข้าวก็ยังเข้ามากองอยู่ในมือรัฐบาล แนะนำว่าถึงเวลาที่ต้องเลิกทิฐิ เพราะวิธีนี้ประเทศชาติเสียหายมาก หาวิธีอื่นที่ยกระดับชาวนา ถึงเวลาที่ต้องใช้สมองบ้างแล้ว”
นอกจากนี้ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ยังได้เปรียบเทียบวิธีการคำนวณผลการขาดทุนของโครงการระหว่างข้อมูลของกระทรวงการคลัง และมูดี้ส์ว่า ผลลัพธ์ที่ออกมาไม่แตกต่างกัน และเป็นตัวเลขที่ถูกต้องทั้งคู่ มีเพียงสมมติฐานที่ใช้ในการคำนวณเท่านั้น โดยมูดี้ส์ คำนวณรวมผลสูญเสียที่จะเกิดขึ้นตามมาหลังจากการขายข้าวได้ทั้งหมด โดยประมาณการไว้ว่าจะหมดภายใน 4-6 ปี แต่คณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำสินค้าเกษตรคำนวณเพียงการรับจำนำข้าว ปี 2554/2555 เพียงปีเดียว
ดังนั้น แปลว่าคลังยอมรับแล้วว่าการขาดทุนของข้าวนาปี นาปรัง ของ 54/55 เท่ากับ 136,800 ล้านบาท ขณะที่ มูดี้ส์ บอกว่าขาดทุน 2 แสนล้าน ซึ่งเป็นตัวเลขที่ถูกต้องทั้งคู่ แต่แตกต่างกันที่สมมติฐานในการคิดคำนวณ โดยกระทรวงการคลัง ประมาณการจาก ต้นทุนและรายรับ ขณะที่ มูดี้ส์ ประเมินว่าการขาดทุนในโครงการจำนำข้าว ประมาณ 2 แสนล้านบาท มาจากการคำนวณรวม ผลสูญเสียที่จะเกิดขึ้นตามมาหลังจากการขายข้าวได้ทั้งหมด โดยประมาณการไว้ว่าจะหมดภายใน 4-6 ปี
ด้านนายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้โพสต์ข้อความแสดงความเห็นผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Thirachai Phuvanatnaranubala เรื่อง “เปรียบเทียบจำนำข้าวกับประกันราคา” โดยระบุว่า ผมขอให้ความเห็นทางวิชาการ เปรียบเทียบจำนำข้าวกับประกันราคาว่านโยบายไหนดีกว่ากัน
ขอเริ่มต้นว่า ผมไม่ขัดข้องที่จะมีการช่วยเหลือชาวนา แต่ที่ผ่านมา การถกเถียงเรื่องนี้มีการปะปนประเด็นกันไปมา จนทำให้เข้าใจเรื่องได้ยาก พูดกันทีไรก็อารมณ์เสีย ด่ากันไปๆ มาๆ ทำให้มองประเด็นวิชาการไม่ชัด
เรื่องนี้มี 2 มิติซ้อนกันอยู่
มิติที่หนึ่ง คือ การช่วยเหลือชาวนา ซึ่งเป็นวัตถุประสงค์ที่ทุกคนเห็นด้วยนั้น วิธีการที่ใช้ ไม่ว่าจะเป็นการประกัน หรือการจำนำ คำถามคือ วิธีนั้นก่อภาระต่อรัฐเป็นเงินเท่าใด และรัฐจะเอาเงินจากไหมมาใช้เพื่อช่วยเหลือชาวนา
เงินที่จะใช้ช่วยเหลือชาวนานั้น จะใช้เงินจากการเก็บภาษีต่างๆ เพิ่มขึ้น หรือจะใช้เงินจากการเพิ่มหนี้สาธารณะ
ในมิตินี้ ถ้าใช้เงินจากการเก็บภาษีก็จะไม่กระทบเครดิตของประเทศ แต่ถ้าใช้เงินจากหนี้ อาจจะกระทบเครดิตของประเทศอย่างแรง
ประเด็นหลักในมติที่หนึ่ง ก็คือ จะต้องมีการประเมินตัวเลขขาดทุน และประเมินภาระต่อรัฐให้ถูกต้องน่าเชื่อถือ และต้องชี้แจงให้ชัดว่าภาระดังกล่าว รัฐบาลจะหาเงินจากไหนมาใช้รองรับโครงการนี้
ถ้าไม่เปิดเผยตัวเลข หรือให้ตัวเลขที่ไม่น่าเชื่อถือ บริษัทจัดอันดับเครดิต และนักเศรษฐศาสตร์ ก็จะประเมินกันเอง และหากขาดทุนถึงขั้นที่ประเทศถูกเตือนหนักๆ หรือถูกลดเครดิต ก็จะไม่ต่างอะไรกับสถาบันระดับโลก เขาให้ vote of no confidence แก่รัฐบาล
ดังนั้น ในมิติที่หนึ่งนี้ ไม่ว่าวิธีจำนำข้าว หรือประกันราคา ต้องมีคำตอบเรื่องภาระของรัฐ และต้องมีการเปิดเผยข้อมูลเหมือนๆ กัน
มิติที่สอง คือ ถามว่าวิธีการช่วยเหลือชาวนา วิธีใดที่ทำให้เงินผ่านไปถึงมือชาวนาเต็มเม็ดเต็มหน่วยมากกว่ากัน ในมิติที่สองนี้ ผมต้องอธิบายอย่างระมัดระวังมาก เพราะมิฉะนั้น ผู้อ่านจะคิดว่าผมเอนเอียงในด้านการเมือง
ผมได้เข้าอบรมหลักสูตร ปปร. รุ่นที่ 12 ที่สถาบันพระปกเกล้าในปี 2551/2552 และได้พบ ดร.ธีรพงษ์ ตั้งธีระสุนันท์ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้จัดการ ธ.ก.ส. เราปรึกษากันแล้ว เห็นว่าโครงการจำนำข้าวที่ดำเนินการไปหลายครั้งในอดีตนั้น ทำให้เกิดภาะต่อรัฐอย่างมาก ไม่คุ้มกับผลดีที่ตกแก่ชาวนา
เราสองคนจึงได้ร่วมกันทำเอกสารวิชาการขึ้น ร่วมกันเสนอแนวคิดให้รัฐบาลในอนาคต ควรจะใช้วิธีประกันราคา แทนการจำนำ เอกสารดังกล่าวเผยแพร่ต่อสื่อในปี 2552 และมีหนังสือพิมพ์บางฉบับได้นำไปอ้างอิงด้วย
ดังนั้น ในวันนี้ที่ผมพูดถึงวิธีประกันราคา จึงยืนยันได้ว่าไม่ใช่การพูดเพื่อเข้าข้างพรรคประชาธิปัตย์
ทั้งนี้ ภายหลังที่ได้มีการเผยแพร่เอกสารวิชาการดังกล่าว ต่อมาเมื่อ ปชป. เข้ามาเป็นรัฐบาล ปชป. ก็ได้เปลี่ยนไปใช้นโยบายประกันรายได้ ซึ่งมีหลักคิดคล้ายคลึงกับที่เราเสนอในเอกสารวิชาการ
แต่ผมขอยืนยันว่า ปชป. ไม่เคยติดต่อสอบถาม หรือพูดคุยกับผม ไม่ว่าในเรื่องเอกสารวิชาการ หรือในเรื่องโครงการประกันรายได้ของ ปชป. แต่อย่างใด และผมไม่ทราบว่า ปชป. ได้อ่านเอกสารวิชาการของผมหรือไม่ด้วยซ้ำ
กลับมาในประเด็นว่าวิธีการใด (ก) เม็ดเงินจะผ่านไปถึงมือชาวนามากกว่ากัน และ (ข) วิธีใดจะก่อภาระแก่รัฐน้อยกว่ากัน
ในเรื่อง (ก) เม็ดเงินนั้น ทั้งสองวิธีเงินผ่านไปถึงมือชาวนา
ในการเปรียบเทียบ ผู้อ่านต้องทำใจเป็นธรรมเสียก่อนนะครับ ท่านต้องยกเอาความรักเกลียดชอบชังทางการเมืองออกไปเสียก่อนชั่วคราว จึงจะเข้าใจแง่มุมทางวิชาการ
การเปรียบเทียบ ต้องเริ่มต้นด้วยสมมติฐานว่ามีการตั้งระดับการช่วยเหลือที่เท่ากันเสียก่อน คือ กรณีรับจำนำ ก็รับในราคา 15,000 บาทต่อตัน กรณีประกันราคา ก็ประกันในราคา 15,000 บาทต่อตัน
ถ้าคิดแบบง่ายๆ โดยยังไม่ต้องดูองค์ประกอบอื่นๆ มากมาย การประกันย่อมมีโอกาสทำให้เม็ดเงิน ผ่านไปถึงมือชาวนาเต็มเม็ดเต็มหน่วยมากกว่าแน่นอน
เพราะวิธีการประกันนั้นทำได้ง่ายกว่า ขั้นตอนน้อยกว่า
(1) ค่าใช้จ่ายในการบริหารต่ำกว่า (2) ไม่ปวดหัวเรื่องหาสถานที่เก็บข้าว (3) ไม่กังวลเรื่องข้าวหาย (4) ไม่ต้องเสียเงินให้แก่ชาวนาเขมร ชาวนาลาว และต่อไปชาวนาพม่า (5) ไม่มีการเวียนเทียนข้าว (6) ไม่มีสต๊อกลม (7) ไม่มีข้าวเสื่อมสภาพ (8) โรงสีไม่สามารถกดราคาแก่ชาวนาโดยอ้างว่าข้าวมีคุณภาพต่ำ (9) โรงสีไม่สามารถขยักเงินแก่ชาวนาโดยอ้างว่าข้าวมีความชื้นสูง (10) ไม่มีข้อครหาว่ารัฐขายข้าวในราคาถูกเกินไป หรือ (11) ขายแบบ G to G ทั้งที่ไม่ใช่ หรือ (12) ขายให้แก่พรรคพวกโดยเลี่ยงไม่มีการประมูลแข่งราคากันตามระเบียบราชการ
ถ้าหากวิธีจำนำจะเหนือว่าวิธีประกัน ก็เฉพาะในเรื่อง (ข) ในประเด็นว่าวิธีจำนำ อาจจะก่อภาระแก่รัฐน้อยกว่าก็ได้
ถามว่าจะก่อภาระต่อรัฐน้อยกว่าได้อย่างไร
แนวคิดของผู้ที่สนับสนุนเรื่องนี้ คือหวังว่า การที่รัฐกักตุนเก็บข้าวเอาไว้แต่ผู้เดียว จะทำให้ราคาตลาดโลกสูงขึ้น จึงเท่ากับจะเอากำไรของผู้ส่งออกมาเป็นของรัฐ และบีบให้ประชากรโลกต้องยอมซื้อข้าวในราคาที่แพงขึ้น เพื่อลดภาระของรัฐ
ความหวังดังกล่าวจะเป็นจริงก็ต่อเมื่อปริมาณข้าวในตลาดโลกจากแหล่งอื่นมีไม่มากนัก
แต่ในขณะนี้ การปลูกข้าวเพื่อส่งออกได้ขยายวงไปหลายประเทศแล้ว ไม่ว่าเวียดนาม อินเดีย และต่อไปพม่าก็จะเป็นแหล่งที่สำคัญ
นอกจากนี้ เนื่องจากโกดังเก็บข้าวในไทยไม่ได้มีการลงทุนแบบมาตรฐานโลก ข้าวที่เก็บจึงเสื่อมสภาพเร็ว ยิ่งเก็บนานก็ยิ่งขายได้ราคาต่ำลงๆ
และถึงแม้การกักตุนสต๊อกเอาไว้ สมมติอาจจะมีผลทำให้ราคาตลาดโลกสูงขึ้นก็ตาม ราคาที่สูงขึ้นจะเกิดขึ้นเพียงชั่วคราว ตราบที่รัฐบาลไทยยังกักตุนข้าวเอาไว้เท่านั้น แต่เนื่องจากสต๊อกข้าวไทยมีปริมาณมหาศาล ดังนั้น เมื่อใดที่รัฐบาลไทยนำข้าวออกขาย ราคาในตลาดโลกก็จะลดลง
ด้วยเหตุผลเหล่านี้ ผมจึงเห็นว่าการประกันจะทำให้เม็ดเงินผ่านลงไปถึงมือชาวนาเต็มเม็ดเต็มหน่วยกว่าการจำนำมาก
วิธีประกัน รัฐขาดทุนเท่าไหร่ ชาวนาก็ได้ประโยชน์เท่านั้นเต็มๆ
แต่วิธีจำนำ รัฐขาดทุนเท่าไหร่ ชาวนาได้ประโยชน์เพียงบางส่วน ที่เหลือจะตกหล่นเบี้ยบ้ายรายทางแถมบางส่วนออกไปนอกประเทศ
ส่วนที่ตกหล่นไปนี้ นอกจากจะสร้างภาระแก่ผู้เสียภาษีโดยไม่จำเป็นแล้ว ยังเป็นการสร้างนิสัยที่ไม่ดีให้เกิดขึ้นในแวดวงบุคลากรที่เกี่ยวข้อง ซึ่งได้ประโยชน์ที่ไม่ควรได้จากขบวนการจำนำอีกด้วยครับ