xs
xsm
sm
md
lg

อสังหาฯ คึกคัก! รับอานิสงส์ กนง.ลด ดบ. หนุนกำลังซื้อเพิ่ม 2%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ภาคอสังหาฯ เฮอานิสงส์ดอกเบี้ยนโยบายลด 0.25% นายกสมาคมอสังหาฯ ชี้หนุนกำลังซื้อเพิ่ม คนผ่อนบ้านลดเงินต้นมากขึ้น ระยะเวลาผ่อนเร็วขึ้น ยันไม่เอื้อนักเก็งกำไร ด้านบิ๊กพฤกษาฯ ระบุกำลังซื้อเพิ่ม 2% ต้นทุนการเงินผู้ประกอบการลดตาม

นายอธิป พีชานนท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) และนายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย กล่าวว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ลง 0.25% จาก 2.75% เหลือ 2.50% จะช่วยกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ได้อย่างมาก โดยเฉพาะในแง่ของผู้บริโภค ทั้งผู้ที่ซื้อบ้านไปแล้วอยู่ระหว่างผ่อนชำระ และผู้ที่กำลังจะตัดสินใจซื้อบ้าน

โดยในด้านของผู้ที่อยู่ระหว่างผ่อนชำระ การลดลงของดอกเบี้ย 0.25% จะช่วยลดค่าดอกเบี้ยผ่อนบ้านลง 2% ทำให้ผู้กู้มีเงินส่วนที่เหลือไปซื้ออย่างอื่น หรือหากอัตราการผ่อนเท่าเดิมก็จะช่วยให้ลดเงินต้นได้เร็วขึ้น ระยะเวลาการผ่อนเงินกู้ลดลง ส่วนกรณีของผู้ที่ยังไม่ซื้อบ้านก็จะช่วยให้ตัดสินใจซื้อบ้านได้ง่ายขึ้น เพราะจะได้วงเงินกู้เพิ่มขึ้น 2% มีกำลังซื้อบ้านเพิ่มขึ้น

นายอธิป กล่าวต่อว่า อัตราดอกเบี้ยที่ลดลงไม่มีผลต่อนักเก็งกำไร เพราะกลุ่มคนเหล่านี้จะไม่รับโอนบ้าน จะพยายามขายบ้านก่อนที่จะมีการโอน แต่อาจมีผลบ้างต่อนักลงทุนบางรายที่จะย้ายเงินจากการลงทุนด้านอื่นๆ ที่ได้ผลตอบแทนลดลง หันมาลงทุนซื้ออสังหาฯ แทน เพราะใช้เงินกู้น้อยลง ผ่อนถูกลง แต่ได้ค่าเช่าเท่าเดิม และเชื่อว่าจะไม่ทำให้ภาคอสังหาฯ ร้อนแรงจนเกิดภาวะฟองสบู่อย่างแน่นอน

“การลดลงของดอกเบี้ยจะส่งผลดีต่อผู้ที่ซื้อบ้านเพื่ออยู่อาศัยจริง ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของตลาด เพราะหากดอกเบี้ยต่ำ กำลังซื้อเพิ่มขึ้น ก็จะทำให้ตัดสินใจซื้อบ้านได้ง่ายขึ้น” นายอธิปกล่าว
นายประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต กรรมการและรองกรรมการผู้จัดการ บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน)
ด้านนายประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต กรรมการ และรองกรรมการผู้จัดการ บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การลดลงของอัตราดอกเบี้ยนโยบายส่งผลดีต่อภาคอสังหาริมทรัพย์ใน 3 ด้าน ได้แก่ 1.เพิ่มกำลังซื้อของผู้บริโภค เพราะการลดลงของดอกเบี้ยทุกๆ 1% จะช่วยเพิ่มกำลังซื้อของผู้บริโภค 8% หากอัตราดอกเบี้ยลดลง 0.25% ก็จะทำให้กำลังซื้อเพิ่มขึ้น 2% กล่าวคือ เดิมสามารถกู้เงินซื้อบ้านได้ 1 ล้านบาท ก็จะสามารถกู้เพิ่มอีก 20,000 บาท เป็น 1.02 ล้านบาท

2.ช่วยลดหนี้ภาคครัวเรือนลงจากที่ปัจจุบันหนี้ภาคครัวเรือนของไทยอยู่ในระดับที่สูงลง ซึ่งจากตัวเลขของคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) พบว่า ในไตรมาสแรกหนี้สินครัวเรือนได้ปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการก่อหนี้ในหมวดรถยนต์ และที่อยู่อาศัย ขณะที่การผิดนัดชำระหนี้เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจาก 28% เป็น 38.9% ในจำนวนหนี้เสียของครัวเรือนนั้น เป็นหนี้เสียจากสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลมีมูลค่า 6.02 หมื่นล้านบาท หรือ 23.5% ของหนี้เสียรวม สินเชื่อบัตรเครดิตผิดนัดเกิน 3 เดือน สูงถึง 5,369 ล้านบาท

ทั้งนี้ สินเชื่อภาคครัวเรือนเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 3 ติดต่อกัน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีก โดยเฉพาะครัวเรือนผู้มีรายได้น้อยที่พบว่ามีรายจ่ายเพิ่มขึ้น 15.9% เร็วกว่ารายได้ที่เพิ่มขึ้น 10.4% และ 3.ลดต้นทุนของผู้ประกอบการลง 0.25% ช่วยลดแรงกดดันในแง่ของต้นทุนผู้ประกอบการลงได้บ้าง โดยเฉพาะต้นทุนทางการเงิน

อย่างไรก็ตาม การลดลงของอัตราดอกเบี้ยเชื่อว่าจะช่วยกระตุ้นภาวะเศรษฐกิจให้เติบโตขึ้น ภาคอสังหาริมทรัพย์ได้ประโยชน์มากในแง่ของกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น