xs
xsm
sm
md
lg

“แคเรียร์” ปลุกตลาดอาคารเขียวในไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ยูไนเต็ด เทคโนโลยี” เจ้าของแบรนด์ แคเรียร์ ผู้นำระบบทำความร้อน ระบบปรับอากาศ และระบบทำความเย็น ร่วมกับสถาบันอาคารเขียว กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน จัดงานสัมมนา “Distinguished Sustainability Lecture Series” หรือการบรรยายพิเศษเพื่อสร้างการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อให้ความรู้แก่สถาปนิกผู้ออกแบบ และเจ้าของอาคารถึงแนวคิด และเทรนด์ในการก่อสร้างอาคารเขียวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

โดยงานดังกล่าวจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในปี 2554 ในรูปแบบของงานสัมมนาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกกลาง โดยมีวัตถุประสงค์มุ่งให้ผู้เชี่ยวชาญระดับโลกด้านอาคารเขียวได้เผยแพร่ข้อมูลความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยมีผู้ที่อยู่ในแวดวงอาชีพการก่อสร้างอาคารเข้าร่วมงานสัมมนานี้มากกว่า 1,500 คน

นายจอห์น แมนไดค์ ประธานเจ้าหน้าที่การพัฒนาอย่างยั่งยืน บริษัท ยูไนเต็ด เทคโนโลยี-ไคลเมท คอนโทรล แอนด์ ซีเคียวริตี้ จำกัด กล่าวว่า “แคเรียร์เป็นหนึ่งแบรนด์ของ ยูไนเต็ด เทคโนโลยี และเป็นผู้ริเริ่มเรื่องอาคารเขียวในโลก โดยเป็นบริษัทแรกที่ร่วมมือกับ World Green Building Council ในปี 2536 และมีส่วนร่วมก่อตั้ง Green Council อื่น เช่น ในประเทศจีน อินเดีย สิงคโปร์ เพราะเราเชื่อว่าสมาคมอาคารเขียวต่างๆ จะมีส่วนผลักดันให้เกิดการสร้างอาคารเขียวเพิ่มมากขึ้น

ปัจจุบัน World Green Building Council มีสมาชิกรวมทั้งสิ้น 96 ประเทศ เพื่อสร้างมาตรฐาน เกณฑ์การตรวจวัด และให้การรับรองอาคารเขียวในแต่ละประเทศทั่วโลก และทำให้เกิดความก้าวหน้า และการก่อสร้างอาคารเขียวในเมืองใหญ่ทั่วโลก ในปีที่ผ่านมา แคเรียร์ได้ร่วมทำวิจัยกับ World Green Building Council และพบว่า อาคารเขียวมีการเติบโตเป็น 2 เท่าในทุกๆ 3 ปี นับจากการศึกษาครั้งแรกในปี 2551 พบว่า 13% จากผู้ที่ตอบแบบสอบถามได้เริ่มดำเนินงานเรื่องอาคารเขียว ปี 2555 เพิ่มเป็น 28% และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 51% ใน 2558 การวิจัยนี้ได้ทำการสำรวจจากผู้เชี่ยวชาญด้านการก่อสร้างอาคารจำนวน 900 คน ใน 62 ประเทศ

นอกจากนี้ สัดส่วนของมูลค่าการก่อสร้างอาคารเขียวในสหรัฐอเมริกา (เมื่อเปรียบเทียบกับอาคารทั้งหมด) ก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจาก 12% ในปี 2548 เป็น 45% ในปี 2556 ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการตัดสินใจที่ถูกต้องเพราะการสร้างอาคารเขียวจะช่วยลดการใช้พลังงาน และปริมาณการใช้น้ำภายในอาคาร อาคารเขียวจึงเป็นการสร้างมูลค่าให้แก่อาคารเพราะทำให้อาคารมีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น การลงทุนในอาคารเขียวจึงให้ผลดีทั้งด้านธุรกิจ และด้านอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม แคเรียร์จึงอยากมีส่วนร่วมในการผลักดันให้อาคารเขียวเติบโตมากยิ่งขึ้นทั่วโลก

ถึงแม้ว่าต้นทุนการก่อสร้างของอาคารเขียวจะสูงกว่าการสร้างอาคารปกติ 5-10% แต่จะได้ค่าเช่าที่ดีกว่า ปัจจุบัน ความต้องการของผู้เช่าอาคารเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ผลักดันให้อาคารเขียวมีการเติบโตเพิ่มขึ้น

นายนีล ก็อค ผู้ช่วยศาสตราจารย์ มหาวิทยาลัย Maastricht ได้เผยถึงภาพรวมในเชิงเศรษฐศาสตร์ของอาคารเขียว “การประหยัดพลังงานได้กลายเป็นประเด็นทางสังคมที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง การลดปริมาณการใช้พลังภายในอาคารเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องพึงกระทำ ในอนาคตประเทศต่างๆ จะต้องเพิ่มกฎเกณฑ์ หรือมาตรการเพื่อลดการใช้ปริมาณพลังงานภายในอาคาร หากเราสามารถลดปริมาณการใช้พลังงานภายในอาคารได้อย่างจริงจังก็จะทำให้ต้นทุนในการดำเนินงานของอาคารต่างๆ ลดลง”

เขาได้ทำวิจัยในสหรัฐอเมริกา ยุโรป ออสเตรเลีย ศึกษาเปรียบเทียบอาคารสำนักงาน จำนวน 30,000 แห่ง ในสหรัฐอเมริกา บ้าน จำนวน 30,000 หลัง ในประเทศเนเธอร์แลนด์ อาคาร จำนวน 1,000 หลัง ในประเทศออสเตรเลีย ทั้งอาคารปกติและอาคารเขียวที่ขนาดเท่ากัน และอยู่ในพื้นที่เดียวกัน ใช้เวลาในการทำวิจัยตั้งแต่ 2550-2553 เป็นระยะเวลา 3 ปี

กฎระเบียบข้อบังของอาคารในยุโรป อาจจะมีส่วนเป็นตัวชี้วัดในตลาดอสังหาริมทรัพย์ของไทย ในยุโรปมีการติดฉลากประหยัดพลังงาน (Green label) ให้แก่อาคารต่างๆ ซึ่งมีผลต่อราคาของอสังหาริมทรัพย์ การจัดกลุ่มประเภทของฉลากจะต้องมีการตรวจสอบตั้งแต่โครงสร้าง การใช้วัสดุอุปกรณ์ เช่น ฉนวนกันความร้อน กระจก ฯลฯ ตลอดจนระบบระบายอากาศ และทำความเย็นภายในอาคาร เพื่อคำนวณการประหยัดพลังงานภายในอาคาร ส่วนในสหรัฐอเมริกา มีการใช้มาตรฐานรับรองการออกแบบและก่อสร้างอาคารเขียวที่เรียกว่า LEEDTM ย่อมาจาก Leadership in Energy and Environmental Design เพื่อตรวจสอบและให้การรับรองอาคาร บ้าน และชุมชนที่สร้างขึ้นตามแนวคิดของการประหยัดพลังงาน และในปัจจุบัน มีจำนวนอาคารที่ได้รับการรับรองโดย LEEDTM เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

จากการศึกษาของ นายนีล ก็อค พบว่า เจ้าของอาคารเขียวที่ช่วยประหยัดพลังงานสามารถขึ้นราคาค่าเช่าพื้นที่ได้มากถึง 3% แนวคิดอาคารเขียว (ทั้งการก่อสร้างอาคารใหม่และการปรับปรุงอาคารเก่า) จะเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่อาคาร ซึ่งปัจจุบันนักลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ทั่วโลกต่างๆ ได้ให้ความสนใจที่จะลงทุนของอาคารที่ให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่ากับการลงทุน

นายฮัสตัน ยูแบงค์ สถาปนิกและที่ปรึกษาอิสระ ผู้เชี่ยวชาญระดับสากลด้านอาคารเขียว “ปกติคนเราจะใช้เวลาประมาณ 90% ทำกิจกรรมต่างๆ ภายในอาคาร ถ้าเราทำอาคารให้เป็นไปตามแนวคิดอาคารเขียว คือ ประหยัดพลังงาน ลดสารพิษปนเปื้อนที่มากับวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ในการก่อสร้างอาคาร ก็จะทำให้คนที่อยู่ในอาคารมีสุขภาพดีมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ คุณภาพของสภาพแวดล้อมภายในอาคาร ประกอบด้วย อากาศ แสง ความร้อน เสียง และกลิ่นภายในอาคาร ในสหรัฐอเมริกา พบว่าอาคารมีส่วนที่ทำให้คนเกิดอาการเจ็บป่วย เรียกว่า Sick Building Syndrome ซึ่งทำให้เกิดการสูญเสียเงินในการรักษาอาการเจ็บป่วยเป็นเงินจำนวนมากถึง 60 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2002”

ในอดีตสาเหตุหลักในการก่อสร้างอาคารเขียวก็เพื่อประหยัดพลังงาน แต่ US Department of Energy และสถาบัน Rocky Mountain Institute ได้ค้นพบว่าผลพลอยได้ของแนวคิดอาคารเขียวทำให้คนเกิด productivity เพิ่มมากขึ้น 6-18%

อาคารที่ดีต้องมีแสงสว่างจากธรรมชาติเพียงพอ เสียงไม่ดังรบกวนเกินไป ผู้ที่อยู่ในอาคารต้องสามารถควบคุมอุณหภูมิ และสภาพแวดล้อมภายในอาคารได้ อาคารต้องถูกออกแบบให้สอดรับกับธรรมชาติ หรือทำให้คนรู้สึกเชื่อมโยงกับธรรมชาติให้มากที่สุด หรือที่เรียกว่า Biophilic Design และต้องลดปริมาณสารพิษต่างๆ (Volatile organic compounds) ที่ปนเปื้อนมากับวัสดุอุปกรณ์ภายในอาคารตั้งแต่กระบวนการคัดเลือกใช้วัสดุก่อสร้าง เช่น ไม้ที่ผ่านกระบวนการต่างๆ ก่อนที่ประกอบเป็นเฟอร์นิเจอร์จะมีสารฟอร์มันดีไฮด์ค่อนข้างสูงมาก พรม ฯลฯ

นายจักรพันธ์ ภวังคะรัตน์ รองประธานคณะกรรมการ “สถาบันอาคารเขียวไทย” มีบทบาทในการสร้างมาตรฐาน วางกฎเกณฑ์ และการตรวจวัดอาคารเขียวในประเทศไทย โดยมีการรับรองมาตรฐานที่เรียกว่า TREES ซึ่งมีหลักเกณฑ์การตรวจวัด 8 ประการ เช่น การบริหารจัดการอาคาร ผังบริเวณและ landscape การประหยัดน้ำ การใช้พลังงานและบรรยากาศ วัสดุและทรัพยากรในการก่อสร้าง สภาวะแวดล้อมภายในอาคาร การป้องกันผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม นวัตกรรม”

“ประเทศไทยเป็นหนึ่งในผู้นำด้านอาคารเขียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นรองจากประเทศสิงคโปร์ และมีจำนวน 70 อาคาร ที่ลงทะเบียนขอรับการรับรองจาก LEEDTM โดย 18 อาคารได้รับการรับรองโดย LEEDTM เป็นที่เรียบร้อยแล้ว คิดเป็น 18% หรือพื้นที่ 577,038 ตารางเมตร ในขณะที่มี 15 อาคาร ได้ลงทะเบียนขอการรับรองมาตรฐาน TREES ของสถาบันอาคารเขียวอยู่ในขณะนี้” นายจักรพันธ์ กล่าวเสริม

แคเรียร์มีเป้าหมายที่จะทำให้ตลาดเปลี่ยนเป็นอาคารเขียวภายในเจเนอเรชันถัดไป และหวังว่าประเทศไทยจะมีอาคารเขียวเพิ่มมากขึ้นในอนาคต นั่นหมายถึง การประหยัดและใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงที่สุด ซึ่งจะส่งผลดีให้แก่สิ่งแวดล้อม และระบบเศรษฐกิจ เพื่อที่เราจะได้นำเงินไปใช้กับการพัฒนาด้านอื่นๆ เช่น การศึกษา

ทั้งนี้ แคเรียร์ เป็นผู้ให้บริการด้านระบบโซลูชันภายในที่สร้างความยั่งยืนให้แก่อาคาร ที่ประกอบด้วย การให้คำปรึกษาด้านอาคารเขียว การออกแบบและวางระบบเครื่องปรับอากาศ เพื่อการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ จนถึงระบบควบคุมภายในอาคารแบบอัตโนมัติที่ทันสมัย และให้บริการด้านการบริหารจัดการพลังงานของอาคารที่เปิดดำเนินการแล้ว และอยู่ในระหว่างการก่อสร้าง
กำลังโหลดความคิดเห็น