เอเจนซี/ซีเอ็นเอ็น - น้ำมันดิ่งแรง 6 วันติดเมื่อวันพุธ (17) โดยเบรนท์ลอนดอน ทรุดลงต่ำกว่า 98 ดอลลาร์เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ท่ามกลางความกังวลต่ออุปสงค์ในสหรัฐฯ ส่วนวอลล์สตรีทก็ร่วงหนักตามแรงฉุดของหุ้นแอปเปิล ขณะที่ทองคำกลับมาปิดลบอีกครั้ง เหตุยังไม่มีปัจจัยใหม่ๆ เข้ามาสนับสนุนราคา
สัญญาล่วงหน้าน้ำมันดิบชนิดไลต์สวีตครูดของสหรัฐฯ งวดส่งมอบเดือนพฤษภาคม ลดลง 2.04 ดอลลาร์ ปิดที่ 86.68 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่วนเบรนท์ทะเลเหนือลอนดอน งวดส่งมอบเดือนมิถุนายน ลดลง 2.22 ดอลลาร์ ปิดที่ 97.69 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ขยับลงต่ำกว่า 98 ดอลลาร์เป็นหนแรกนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคมปีก่อน
รายงานของกระทรวงพลังงานสหรัฐฯ ระบุว่า อุปสงค์น้ำมันเบนซินของประเทศในช่วง 4 สัปดาห์ที่ผ่านมา สิ้นสุดวันที่ 12 เมษายน ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนถึงร้อยละ 3.3 หรือเฉลี่ยราว 8.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน
นอกจากนี้ ในรายงานประจำสัปดาห์ของกระทรวงพลังงานสหรัฐฯ ระบุด้วยว่า ปริมาณการใช้น้ำมันกลั่น อันประกอบด้วยน้ำมันทำความร้อนและดีเซล ก็ลดลงเช่นกัน ทั้งหลายทั้งปวงนี้เองได้ก่อความกังวลต่อปัญหาอุปทานล้นในสหรัฐฯ ซ้ำเติมความกังวลเกี่ยวกับอุปสงค์น้ำมันโลกที่เดิมก็อ่อนแออยู่เป็นทุนแล้ว
ด้านตลาดหุ้นสหรัฐฯ วานนี้ (17) ปิดลบแรงท่ามกลางการเทขายอย่างหนัก นำโดยหุ้นแอปเปิล ที่ดิ่งลงกว่า 5 เปอร์เซ็นต์ จากความกังวลต่ออุปสงค์ผลิตภัณฑ์ของบริษัท ขณะที่วอลล์สตรีทยังถูกซ้ำเติมด้วยรายงานผลประกอบการอันอ่อนแอของแบงก์ออฟอเมริกาที่สั่นสะเทือนภาคการเงินด้วย
หุ้นของแอปเปิล อิงก์ ทรุดลงถึงร้อยละ 5.5 ปิดที่ 402.80 ดอลลาร์ต่อหุ้น หลังจากช่วงหนึ่งขยับลงไปต่ำกว่า 400 ดอลลาร์เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2011 หลังจาก เซอร์รัส ลอจิก ผู้ผลิตชิป ซัพพลายเออร์รายสำคัญของแอเปิล คาดการณ์ถึงรายได้ที่น่าผิดหวัง เพิ่มเติมความกังวลเกี่ยวกับอุปสงค์ที่อ่อนแอลงเรื่องๆ ของไอโฟน และไอแพด
ดัชนีหุ้นดาวโจนส์ ลดลง 138.19 จุด (0.94 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 14,618.59 จุด เอสแอนด์พี ลดลง 22.56 จุด (1.43 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 1,552.01 จุด ส่วนแนสแดค ลดลง 59.96 จุด (1.84 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 3,204.67 จุด
ส่วนราคาทองคำวานนี้ (17) ปรับลงเป็นวันที่ 3 ในรอบ 4 วันหลังสุด ขณะที่นักลงทุนยังคงค้นหาปัจจัยสนับสนุนตลาดใหม่ๆ ตามหลังการดิ่งลงแรงเป็นประวัติการณ์ช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยทองคำตลาดโคเมกซ์ของสหรัฐฯ ลดลง 4.70 ดอลลาร์ ปิดที่ 1,382.70 ดอลลาร์ต่อออนซ์