xs
xsm
sm
md
lg

“ประสาร” เซ็ง “คลัง” เปิดหน้าไพ่ 4 มาตรการลับ เผยกินข้าวกับ “โต้ง” กร่อย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ประสาร” เซ็ง “คลัง” เปิดหน้าไพ่ 4 มาตรการลับแก้ค่าเงินบาท กังวลถูกนักเก็งกำไรจับไต๋ไพ่ใบสุดท้าย ต้องลดดอกเบี้ยตามแนวทางที่รัฐได้ตั้งธงเอาไว้ ย้ำชัดดอกเบี้ยที่ 2.75% ไม่ทำร้ายใคร แต่อัตราแลกเปลี่ยนอาจจะมีส่วนบ้าง แต่ทำไมมองเป็นเรื่องใหญ่ พร้อมแจงกรณีนายกฯ ให้ข่าว “กิตติรัตน์” กินข้าวด้วยกัน สยบเกาเหลาไม่ทำสถานการณ์ดีขึ้น เพราะอีกฝ่ายยังใช้จุดยืนเดิมให้ลดดอกเบี้ย 1% ทำการเจรจากร่อย

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงมาตรการลับดูแลเงินทุนไหลเข้าที่ ธปท. เสนอไป โดยยอมรับว่า บางมาตรการต้องขอกระทรวงการคลังให้เป็นความลับ เพราะจริงๆ แล้ว มาตรการทั้ง 4 อันนี้ เราตั้งใจเหมือนไพ่ที่ถือไว้ในมือ ที่กะวางในจังหวะเวลาที่เหมาะสม ไม่ได้ตั้งใจแบไพ่ออกมา เพราะพอแบออกมาทุกคนมองไปที่มาตรการเข้ม ทั้งที่จริงบางจังหวะไม่จำเป็นต้องใช้ตัวเข้ม เมื่อเราออกไพ่แรก คนจะเกรงว่าไพ่ที่เหลือจะมีอะไร แต่พอเราเปิดหมดเขาก็จะมองไพ่ใบสุดท้ายแทน

สำหรับการปรับลดดอกเบี้ยของประเทศต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเกาหลีใต้ เวียดนาม ออสเตรเลีย มีเหตุผลเฉพาะของแต่ละประเทศ ขณะที่มาเลเซีย กลับคงดอกเบี้ย ทั้งที่ผ่านการเลือกตั้งมา ทำให้ค่าเงินริงกิตแข็งค่ามากกว่าเงินบาท แต่จะไม่เป็นแรงกดดันต่อการตัดสินใจในการประชุม กนง.ที่กำลังจะเกิดขึ้น เพราะสามารถอธิบายได้ในเชิงที่เศรษฐกิจเหล่านั้นชะลอตัวลง จะเข้ากรอบของ กนง.ที่จะใช้การตัดสินใจจากแนวโน้มเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจไทยในโอกาสข้างหน้าว่าจะโตตามศักยภาพหรือไม่ พิจารณาตัดสินใจในแนวทางที่เหมาะสม เชื่อถือ และอธิบายได้

ไม่การันตี กนง.ร่วมประชุมวันนี้ทุกคน

ส่วนการนัดหมายหารือกันในวันนี้ คงตอบไม่ได้ว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะไปทุกคนหรือไม่ เพราะตอนแรกกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิปฏิเสธว่า ไม่ไป แต่เห็นติดต่อกัน ก็ไม่แน่ใจว่ามีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ เพราะเป็นการตัดสินใจแต่ละท่านเอง มีมาถามผมว่าจะเป็นอะไรมั้ย ก็จะให้ความร่วมมือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน แต่กรรมการท่านระวัง เพราะไม่อยากให้ภาพออกมาว่าถูกกดดันทางการเมือง โดยมองว่ารัฐบาลต้องการให้ภาพดูดี

นายประสาร ยอมรับว่าได้หารือกับ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ถึง 2 ครั้ง แต่พอคุยกันเรื่องดอกเบี้ยกับเงินบาทความเห็นไม่ตรงกัน การรับประทานอาหารครั้งหลัง เป็นเรื่องต่อเนื่องจากที่คุยที่อินเดีย ช่วงที่ไปประชุมประจำปีสภาผู้ว่าการธนาคารเอเชีย มีโอกาสเจอ นายกิตติรัตน์ เลยขอเวลาพบ เพื่อหารือมาตรการต่างๆ ท่านก็ถามว่าจะกลับไทยเมื่อไหร่ แล้วค่อยคุยกันต่อ จึงเป็นที่มาของการกินข้าวร่วมกัน

นายประสาร ยอมรับว่า ครึ่งชั่วโมงแรกก็คุยกันไปด้วยดี เพราะคุยเรื่องกีฬา แต่หลังๆ พอคุยเรื่องนโยบาย บรรยากาศตึงเครียดขึ้น เพราะยังมีปมเรื่องดอกเบี้ย ยังมีความคิดเห็นที่แตกต่าง เพราะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ยังอยากเห็นดอกเบี้ยนโยบายลดลง 1% ตามจุดยืนของฝ่ายรัฐบาล

นายประสาร ยืนยันว่า ดอกเบี้ยที่ 2.75% ไม่ทำร้ายใคร แต่อัตราแลกเปลี่ยนอาจจะมีส่วนบ้าง แต่ทำไมมองเป็นเรื่องใหญ่ ผมมองไม่ออก โดยหลักการในการดูแลเรื่องนี้มี 3 ตัวใหญ่ ดอกเบี้ยเป็นหนึ่ง ที่เหลือคือ อัตราแลกเปลี่ยน และการบริการจัดการเงินทุน ช่วง 12-13 ปีที่ผ่านมา เราวางน้ำหนักว่า เอาดอกเบี้ย พยายามดูดุลยภาพในประเทศ ถ้าเศรษฐกิจประเทศไม่ดี ไม่โตตามศักยภาพ ดอกเบี้ยต้องผ่อน แต่ถ้าโต ก็อย่าผ่อนจนเกิดเงินเฟ้อ แล้ววางอัตราแลกเปลี่ยนยืดหยุ่น เพื่อวางดุลยภาพระหว่างเรากับต่างประเทศ

ส่วนการเคลื่อนย้ายเงินทุน ปล่อยให้เคลื่อนเสรี เพราะประเทศยังต้องการเงินทุน แต่ในสภาพความเป็นจริง สามารถผสมผสานเข้ากันได้ ถ้าสหรัฐฯ หรือญี่ปุ่น หันมาปั๊มเงินแบบนี้ อัตราแลกเปลี่ยนก็ไม่สามารถปล่อยให้สุดขั้วได้ เราจึงหันมาปรับอีก 2 ขั้วได้ ทีนี้ดอกเบี้ยทำหน้าที่สำคัญคือ ดูแลดุลยภาพในประเทศ ต้องยอมรับว่าความต้องการในประเทศค่อนข้างจะเข้มแข็งมาก จากการขยายตัวของสินเชื่อโตถึง 10% สินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ หนี้ครัวเรือนกระโดดขึ้นมาเกือบ 80% ของจีดีพี

คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะระวังเรื่องนี้มาก จนกระทั่งปัจจัยเหล่านี้อ่อนลง จึงจะเป็นตัวปรับตัวหนึ่ง ไม่งั้นต้องมาอาศัยการควบคุมเงิน มีตั้งแต่เบาไปหาหนัก แต่มีจุดอ่อนของมันคือ การออกแบบมาใช้จะยากกว่าอีก 2 ตัว และบางตัวทำจะมีผลทางจิตวิทยาในตลาดการเงิน ต้องระวังรอบคอบ

นายประสาร ย้ำว่า การใช้ดอกเบี้ยเพื่อวัตถุประสงค์หนึ่งคือ ดูแลเสถียรภาพในประเทศ ถ้าจะหันมาใช้เพื่อดูแล 2 วัตถุประสงค์ ทำไม่ได้ แล้วจะเสีย เดิมวางดอกเบี้ยให้ดูแลเสถียรภาพในประเทศ และวางอัตราแลกเปลี่ยนให้ยืดหยุ่นเป็นตัวดูแลระหว่างประเทศ แต่บทเรียนช่วงสงกรานต์ที่เงินบาทแข็งไปชนขอบ แล้วมีเรื่องเตือนใจว่า นักลงทุนที่เข้ามาอาจจะไม่รู้ว่าชนขอบแล้ว เราก็บอกแนวทางเตือน ที่ให้สัมภาษณ์ว่าเงินบาทแข็งเกินพื้นฐาน ไม่ใช่ว่าพูดไม่มีความหมายอะไร เขาก็ต้องระวัง อย่าหวังว่าจะแข็งกว่านี้ แต่กลุ่มหนึ่ง ถึงอย่างไรก็เข้ามาเพราะรู้ว่าเศรษฐกิจเข้มแข็ง เอาเงินไปใช้ประโยชน์ โดยเฉพาะที่รัฐบาลประกาศว่า จะลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เศรษฐกิจจะโต 5% เจ้าของเงินก็ยิ่งสบาย เอื้อให้เขาเอาเงินมาลงทุน การใช้อัตราแลกเปลี่ยนอาจจะมีข้อจำกัด จึงหันมาดูเรื่องควบคุมเงิน
กำลังโหลดความคิดเห็น