ไม่พลิกโผ! บอร์ดเอสเอ็มอีแบงก์เลือก “มนูญรัตน์ เลิศโกมลสุข” อดีตผู้อำนวยการ อ.ต.ก.เป็นหัวเรือคนใหม่ คาดเข้าทำงานในวันที่ 15 ก.ค.นี้ ด้านว่าที่เอ็มอีเอสเอ็มอีแบงก์โชว์ฟิตประกาศภารกิจด่วน ปรับโครงสร้างองค์กร ทั้ง พนง.และผู้บริหาร ตั้งเป้า 1 ปีลดหนี้เน่าได้เหลือไม่เกิน 20%
นายนริศ ชัยสูตร อธิบดีกรมธนารักษ์ ในฐานะประธานกรรมการธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย หรือเอสเอ็มอีแบงก์ เปิดเผยว่า คณะกรรมการสรรหากรรมการผู้จัดการเอสเอ็มอีแบงก์ได้รายงานผลการสรรหาให้ทราบว่า ได้คัดเลือก “นายมนูญรัตน์ เลิศโกมลสุข” อดีตผู้อำนวยการองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) เป็นกรรมการผู้จัดการเอสเอ็มอีแบงก์คนใหม่ โดยมีคะแนนชนะเป็นเอกฉันท์ ขณะนี้อยู่ระหว่างการต่อรองผลตอบแทน จากนั้นจะเสนอให้คณะกรรมการธนาคารฯ พิจารณาอนุมัติ คาดว่าภายในสิ้นเดือนกรกฎาคมนี้ขั้นตอนทุกอย่างจะเสร็จสิ้นและเริ่มเข้ามาทำงาน
ทั้งนี้ เมื่อนายมนูญรัตน์เริ่มเข้าทำงานจะต้องยื่นแผนการปรับโครงสร้างการทำงานของธนาคารฯ และเสนอแผนฟื้นฟูกิจการให้คณะกรรมการฯ รับทราบภายในระยะเวลา 1 เดือน จากนั้นจะเริ่มประเมินผลการทำงานในช่วง 3 เดือนแรกหลังจากเข้ารับตำแหน่ง และประเมินต่อเนื่องในทุก 6 เดือน
สำหรับแผนฟื้นฟูเอสเอ็มอีแบงก์ต้องการเพิ่มทุน 2,500 ล้านบาท แต่คาดว่าจะได้รับการสนับสนุน 2,000 ล้านบาทเพราะมีเงื่อนไขต้องลดยอดหนี้เสียให้เหลือ 29,500 ล้านบาทภายในสิ้นปีนี้ หรือให้เหลือร้อยละ 28.7 ของสินเชื่อ มีเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงให้สูงกว่าร้อยละ 8.5 ตามเกณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จากปัจจุบันร้อยละ 4.90
ทั้งนี้ นายมนูญรัตน์ เลิศโกมลสุข ว่าที่กรรมการผู้จัดการเอสเอ็มอีแบงก์ เปิดเผยว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจาต่อรองเงินเดือนและค่าตอบแทนในตำแหน่งดังกล่าวหลังจากที่คณะกรรมการธนาคารเห็นชอบผลการสรรหาแล้ว โดยคาดว่าจะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบในวันที่ 9 ก.ค. 2556 และคาดว่าหากเป็นไปตามกำหนดนี้ จะสามารถเข้าไปทำงานที่เอสเอ็มอีแบงก์ได้ในวันที่ 15 ก.ค.นี้
นายมนูญรัตน์กล่าวต่อว่า งานเร่งด่วนที่จะเข้าไปเร่งดำเนินการคือ การปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ โดยเฉพาะในส่วนของพนักงานและผู้บริหารของธนาคารต้องเข้าไปศึกษาว่าควรจะเปลี่ยนแปลงอย่างไรเพื่อให้ธนาคารเดินหน้าต่อไปได้ ซึ่งปัญหาหนักของธนาคารในขณะนี้น่าจะมาจากปัญหาทางด้านบุคลากรมากกว่าเรื่องอื่น เพราะหากดูปัญหาของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) นั้นน่าจะแก้ไขได้ไม่ยาก โดยจากข้อมูลล่าสุดยอดเอ็นพีแอลอยู่ในระดับ 3.3 หมื่นล้านบาท หรือ 35% ของยอดสินเชื่อ โดยตั้งเป้าหมายว่าภายใน 1 ปีที่เข้าไปทำงานจะลดเอ็นพีแอลให้เหลือในระดับ 20% ให้ได้
“แม้ผมจะเป็นอดีตผู้อำนวยการ อ.ต.ก. แต่ที่ผ่านมาเคยอยู่ในแวดวงการเงินมาก่อน คุ้นเคยกับงานด้านปรับโครงสร้างหนี้ และเคยทำงานกับธนาคารเอเชีย และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ไอเอ็นจี จำกัด ดังนั้นจึงไม่หนักใจหากจะเข้ามาทำงานที่เอสเอ็มอีแบงก์ที่มองกันว่ามีปัญหามากในขณะนี้” นายมนูญรัตน์กล่าวทิ้งท้าย
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SME ผู้จัดการออนไลน์” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *