ธ.กสิกร เผยยังไม่พบสัญญาณฟองสบู่ในตลาดอสังหาริมทรัพย์ คาดแนวโน้มปีนี้ยังขยายตัวต่อเนื่อง และยังไม่น่าเป็นห่วงเรื่องการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินเพื่อนำไปเก็งกำไรที่อยู่อาศัยเหมือนในอดีต ในขณะที่สถาบันการเงินเองก็มีการกลั่นกรองลูกค้าเป็นอย่างดี
นายชาติชาย พยุหนาวีชัย รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า แนวโน้มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในปีนี้ ยังคงมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และคาดการณ์ว่าตลาดรวมสินเชื่อที่อยู่อาศัยในปีนี้ จะอยู่ที่ประมาณ 2.45 ล้านล้านบาท เติบโตจากปีก่อน ประมาณ 8.50% ซึ่งเป็นการขยายตัวที่ลดลงเมื่อเทียบกับปี 2555 ซึ่งตลาดสินเชื่อบ้านมีมูลค่า 2.26 ล้านล้านบาท เติบโตจากปีก่อนหน้า 11% ขณะที่ธนาคารกสิกรไทยมีอัตราการเติบโตใกล้เคียงกับตลาด สอดคล้องกับการขยายตัวของตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่ยังมีศักยภาพอยู่ โดยเฉพาะตลาดในเขตหัวเมืองในภูมิภาคต่างๆ
สำหรับสัญญาณการเกิดฟองสบู่ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารได้มีการประเมินสถานการณ์อยู่ตลอด พบว่า โดยภาพรวมยังไม่มีสัญญาณการเกิดฟองสบู่ที่ชัดเจนที่จะส่งผลต่อตลาดโดยรวม เนื่องจากปัจจัยเรื่องอุปทานด้านที่อยู่อาศัยมีมากเกินความต้องการ โดยในปี 2555 มีที่อยู่อาศัยสร้างใหม่ จำนวน 102,000 ยูนิต เพิ่มขึ้นจากปี 2554 ประมาณ 19% ขณะที่จำนวนยูนิตที่ขายได้ในปี 2555 อยู่ที่ 107,000 ยูนิต เพิ่มขึ้น 30% และมียูนิตคงเหลือในปี 2555 จำนวน 129,000 ยูนิต ลดลง 4% จากปีก่อน ซึ่งอยู่ในระดับประมาณ 130,000 ยูนิตติดต่อกันมา 3 ปี
ขณะที่ราคาขายที่เพิ่มสูงขึ้นมาจากต้นทุนแรงงานที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนค่าก่อสร้างเริ่มเพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 ของปี 2555 ประมาณ 12.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อนหน้า และทำให้ราคาที่อยู่อาศัยในปี 2555 เพิ่มสูงขึ้น โดยราคาบ้านเดี่ยว เพิ่มขึ้น 3% ราคาทาวน์เฮ้าส์ เพิ่มขึ้น 2% ราคาคอนโดมิเนียม เพิ่มขึ้น 6% นอกจากนี้ ราคาอสังหาริมทรัพย์ที่เพิ่มขึ้น ยังเกิดจากราคาที่ดินในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลที่มีการปรับเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะตามแนวรถไฟฟ้าซึ่งปรับเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 10.5% ส่งผลให้บริษัทพัฒนาอสังหาฯ ที่ซื้อที่ดินมาในราคาสูง ต้องดำเนินการก่อสร้างที่อยู่อาศัย และขายออกไปในราคาที่สูงตามไปด้วย
ส่วนสถานการณ์หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย โดยภาพรวมของตลาดลดลง โดย ณ สิ้นปี 2554 อยู่ที่ 2.40% และสิ้นปี 2555 อยู่ที่ 2.30% นอกจากนี้ ที่อยู่อาศัยที่ราคาต่ำกว่า 5 ล้านบาท จะมีสัดส่วนของผู้ที่ซื้อด้วยเงินสดราว 30% และกู้เงินธนาคารราว 70% ขณะที่ที่อยู่อาศัยราคา 5 ล้านบาทขึ้นไป มีสัดส่วนซื้อด้วยเงินสด 50% และกู้เงิน 50% จึงยังไม่น่าเป็นห่วงเรื่องการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินเพื่อนำไปเก็งกำไรที่อยู่อาศัยเหมือนในอดีต ในขณะที่สถาบันการเงินเองก็มีการกลั่นกรองลูกค้าเป็นอย่างดี
ด้านสัดส่วนหนี้สินต่อทุนของบริษัทพัฒนาอสังหาฯ พบว่า ในปี 2555 กลุ่มบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่มียอดขายต่ำกว่า 5 พันล้านบาท จะมีสัดส่วนหนี้สินต่อทุนอยู่ที่ 1.10 เท่า ขณะที่บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่มียอดขายตั้งแต่ 5 พันล้านบาทขึ้นไป จะมีสัดส่วนหนี้สินต่อทุนอยู่ที่ 1.54 เท่า นับว่าบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์มีส่วนของทุนสูง สามารถรองรับปัญหา และสภาพคล่องได้ดีกว่าเดิมมาก