ก.ล.ต. ผลักดันโบรกฯ จัดทำข้อมูลสำคัญเชิงวิเคราะห์หลักทรัพย์ “company report” เน้นหุ้นที่มีปริมาณซื้อขายสูงสุด 20 อันดับแรกของลูกค้าทุกประเภท หรือหุ้นที่มีปริมาณซื้อขายสูงสุด 10 อันดับแรกของลูกค้าบุคคล อย่างใดอย่างหนึ่ง คาดดีเดย์ 1 มิ.ย.นี้ ระบุตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา มีผู้ลงทุนรายใหม่เปิดบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์เพิ่มขึ้นจำนวนมาก จึงจำเป็นต้องมีข้อมูลที่รอบด้านมากขึ้น เพื่อใช้ในการตัดสินใจลงทุน ย้ำเผยแพร่เป็นเวลาอย่างน้อย 3 เดือน
นายวรพล โสคติยานุรักษ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. กล่าวว่า ก.ล.ต. ขอความร่วมมือจากสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย เพื่อผลักดันให้บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) จัดทำข้อมูลสำคัญในเชิงวิเคราะห์ของหลักทรัพย์ที่ลูกค้าสนใจลงทุนจำนวนมาก สำหรับหลักทรัพย์ที่มีปริมาณซื้อขายสูงสุด 20 อันดับแรก ของลูกค้าทุกประเภทของ บล. แต่ละแห่ง หรือหุ้นที่มีปริมาณซื้อขายสูงสุด 10 อันดับแรก ของลูกค้าบุคคล อย่างใดอย่างหนึ่ง ในรอบหนึ่งสัปดาห์ที่ผ่านมา ในกรณีที่หลักทรัพย์เหล่านั้นยังไม่มีบทวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน โดยมีผลตั้งแต่ 1 มิถุนายน 2556 เป็นต้นไป
นายวรพล กล่าวว่า ข้อมูลดังกล่าวจะมีเนื้อหาที่เป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจลงทุน เช่น ข้อมูลอัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญ รวมทั้งมีการเปรียบเทียบข้อมูลของบริษัทที่ทำธุรกิจใกล้เคียงกัน เป็นต้น โดยจะไม่มีราคาแนะนำแต่อย่างใด ขณะนี้สมาคมอยู่ระหว่างหารือร่วมกับ บล. เพื่อกำหนดรูปแบบข้อมูลสำคัญดังกล่าว ก่อนที่จะขอความเห็นชอบจาก ก.ล.ต. เพื่อออกประกาศสมาคมต่อไป
เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวด้วยว่า จากสถิติช่วงที่ผ่านมา ผู้ลงทุนทั่วไปในประเทศมีมูลค่าการซื้อขายหุ้นที่มีค่าอัตราส่วนราคาตลาดต่อกำไรสุทธิ (P/E) สูง และหุ้นที่เข้าเกณฑ์ต้องวางเงินสดไว้ล่วงหน้าเต็มจำนวน (cash balance) ในสัดส่วนที่สูงเมื่อเทียบกับผู้ลงทุนกลุ่มอื่น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหุ้นที่ไม่มีบทวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานที่จัดทำโดย บล. ประกอบกับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา มีผู้ลงทุนรายใหม่เปิดบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์เพิ่มขึ้นจำนวนมาก
ดังนั้น การจัดทำข้อมูลเชิงวิเคราะห์หลักทรัพย์ จะทำให้ผู้ลงทุนทั่วไปมีข้อมูลมากขึ้น เพื่อใช้ในการตัดสินใจลงทุน โดย บล. ต้องจัดทำ และเผยแพร่เป็นเวลาอย่างน้อย 3 เดือน และต้องปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบัน หากมีข้อมูลที่อาจกระทบต่อผลการดำเนินงาน หรือราคาของหลักทรัพย์นั้นๆ นอกจากนี้ ในกรณีที่หลักทรัพย์ใดเข้าข่ายต้องทำข้อมูลเชิงวิเคราะห์หลักทรัพย์ติดต่อกัน 4 สัปดาห์ บล. ต้องจัดทำบทวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานของหลักทรัพย์นั้นโดยเร็ว