เตรียมวางเกณฑ์กู้เงิน 2 ล้านล้าน สบน. แนะต้องมีแผนงาน และทำสัญญาก่อนถึงจะจัดงบประมาณให้ ขณะที่ ธปท. มองการจะทำให้การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานประสบความสำเร็จ ต้องเน้นการเบิกจ่ายงบประมาณไม่ให้เกิดการกระจุกตัว และต้องไม่เกิดการกู้เงินมากองโดยที่ยังไม่มีโครงการ
การประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ ที่มี นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง เป็นประธาน โดยที่ประชุมได้เชิญผู้บริหารธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) มาชี้แจงถึงสถานะทางการเงินของประเทศ
น.ส.จุฬารัตน์ สุธีธร ผู้อำนวยการ สบน. กล่าวว่า สภาพคล่องภายในประเทศเวลานี้นับมีว่าจำนวนมากอย่าง ตลาดตราสารหนี้อยู่ที่ประมาณ 8.6 ล้านล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นจังหวะเหมาะสมที่สุดที่จะดำเนินการกู้เงินมาลงทุนโดยใช้สกุลเงินบาทเป็นหลัก แม้ว่าต้นทุนการกู้เงินจากต่างประเทศอย่างไจก้าของญี่ปุ่นจะมีต้นทุนที่ถูกกว่าก็ตาม
น.ส.จุฬารัตน์ กล่าวว่า ยอมรับว่าการจัดสรรงบประมาณเพื่อดำเนินโครงการต่างๆ ที่ผ่านมามีความล่าช้าจนเกิดปัญหางบค้างท่อ ซึ่งต้นเหตุไม่ได้อยู่กระทรวงการคลัง แต่มาจากหน่วยงานเจ้าของโครงการที่จัดแผนการดำเนินงานล่าช้า
อย่างไรก็ตาม สบน.ได้รับทราบข้อห่วงใยจากทุกฝ่ายว่าการกู้เงิน 2 ล้านล้านบาทครั้งนี้จะเป็นการกู้เงินมากอง แต่ สบน.มีแผนจัดการโดย สบน.จะดำเนินการเบิกจ่ายเงินกู้ให้เจ้าของโครงการก็ต่อเมื่อหน่วยงานเจ้าของโครงการได้จัดทำรายละเอียดการดำเนินโครงการที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ และแผนงาน และที่สำคัญ ต้องมีการทำสัญญาแล้วเท่านั้น เชื่อว่าวิธีนี้จะแก้ไขปัญหากู้เงินมากองได้
“โครงการที่นำดำเนินการตามแผนงานจะต้องทำสัญญาให้เสร็จภายในวันที่ 31 ธ.ค.2563 ตามที่บัญญัติไว้ร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน มิเช่นนั้น สบน.จะไม่สามารถดำเนินการกู้เงินให้ได้ เว้นเสียแต่ว่าจะมีการแก้กฎหมายเพื่อขอขยายเวลาในภายหลัง”
ด้าน น.ส.พรเพ็ญ สดศรีชัย ผู้บริหารส่วนเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงิน สำนักนโยบายการเงิน ธปท. กล่าวว่า สถานะทางการเงินของประเทศถือว่าติดลบ เนื่องจากภาคเอกชนเป็นหนี้ต่างประเทศจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม ธปท.คาดการณ์ว่า การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานจะช่วยให้อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจขยายตัวประมาณ 4-5% อย่างไรก็ตาม การจะทำให้การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานประสบความสำเร็จจะต้องเน้นการเบิกจ่ายงบประมาณไม่ให้เกิดการกระจุกตัว และต้องไม่เกิดการกู้เงินมากองโดยที่ยังไม่มีโครงการ