ซีพีออลล์ แจ้ง ตลท. ขอขึ้น SP หลังกระแสข่าวลือชนะประมูลซื้อ "แม็คโคร" ในไทย ส่งผลต่อราคาหุ้นในกระดาน สะพัดราคาซื้อหุ้นละ 800 บาท และต้องใช้เงินลงทุนกว่า 1 แสนล้านบาท
ตามที่คณะกรรมการบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ได้มีมติเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2556 อนุมัติการเข้าทำรายการการได้มาและจำหน่ายไปซึ่งทรัพย์สินสำคัญของบริษัท ซึ่งรายการดังกล่าวเป็นเรื่องที่สำคัญที่อาจมีผลกระทบต่อราคาซื้อขายหลักทรัพย์และการตัดสินใจในการลงทุนของผู้ถือหุ้นหรือผู้ลงทุนทั่วไปนั้น บริษัทอยู่ในระหว่างการจัดเตรียมนำส่งข้อมูลที่เกี่ยวข้องต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.)
ดังนั้น บริษัทจึงใคร่ขอหยุดการซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัทเป็นการชั่วคราวในวันที่ 23 เมษายน 2556 ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้ถือหุ้นและผู้ลงทุนทั่วไปได้มีข้อมูลที่บริษัทจะได้เปิดเผยและมีเวลาที่เพียงพอที่จะวิเคราะห์ ข้อมูลดังกล่าวก่อนที่จะทำการซื้อขายหุ้นของบริษัทต่อไปตามที่เห็นสมควร
โดยก่อนหน้านี้ มีรานงานข่าวว่า ซีพี ออลล์ สนใจเข้าร่วมประมูลซื้อหุ้น แม็คโคร ในไทย ราคาหุ้นละ 800 บาท ซึ่งมีการประเมินว่า ซีพี ออลล์ อาจต้องใช้เงินกว่า 1.6 แสนล้านบาท ในการประมูลซื้อ แม็คโคร
มีกระแสข่าวในห้องค้าหลักทรัพย์ว่า หากซีพีออลล์ ได้ตกลงที่จะซื้อหุ้นแม็คโครที่ราคา 800 บาทต่อหุ้น ซึ่งอาจต้องมีการทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ (เทนเดอร์ ออฟเฟอร์) ด้วยหากตกลงเข้าซื้อหุ้นเกิน 25%
อย่างไรก็ตาม ดีลการขายหุ้นแม็คโคร อาจเป็นลักษณะของการเปิดประมูลขายเหมือนกรณี "คาร์ฟูร์" ทั้งนี้มีกระแสข่าวว่านอกจากกลุ่มซีพี ยังมีกลุ่มเซ็นทรัลด้วยที่สนใจเข้าร่วมประมูลซื้อหุ้นด้วยเช่นกัน
นายเกียรติก้อง เดโช นักกลยุทธ์ บล.ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) ยอมรับว่า การที่ราคาหุ้นCPALL ร่วงลงเยอะเมื่อวานนี้ แต่กลับมีมูลค่าซื้อขายอันดับหนึ่ง เพราะปัจจัยที่กดดันต่อราคาหุ้น ที่มาจากการที่คาดว่า บริษัทจะต้องใช้เงินจำนวนมาก หากจะเข้าซื้อกิจการแม็คโครในครั้งนี้ แต่สิ่งที่นักลงทุนกังวลคือขายหุ้นให้กับใคร ซึ่งมีกระแสข่าวลือ ทั้งเบอร์ลี่ฯ ซีพีออลล์ เซ็นทรัล แต่ยังไม่มีการยืนยันว่า ใครจะเป็นผู้รับซื้อที่ชัดเจน ล่าสุด นักลงทุนคาดการณ์ว่า ซีพีออลล์ จะเป็นผู้รับซื้อหุ้นในครั้งนี้
"ราคาหุ้นซีพีออลล์ปรับตัวลงทันทีและมีวอลุ่มหนาแน่น เพราะมีการคาดการณ์ว่าจะเป็นผู้รับซื้อหุ้นทำให้นักลงทุนที่ถือหุ้นกังวลใจ เพราะมูลค่ารายการของหุ้นแม็คโคร หากทำรายการจริงตามที่เป็นข่าว มูลค่ารายการจะอยู่ที่ 1.9 แสนล้านบาท ต้องใช้เงินทุนจำนวนมาก หากพิจารณาพื้นฐานซีพีออลล์ มีกระแสเงินสด 2 หมื่นล้านบาท ไม่พอต่อการทำรายการ จำเป็นต้องระดมทุนครั้งใหญ่ นักลงทุนจึงตื่นเทขายหุ้นออกมา"
ทั้งนี้ ข้อมูลตลาดหลักทรัพย์เมื่อวันที่ 19 มี.ค.ที่ผ่านมา โครงสร้างผู้ถือหุ้น สยามแม็คโคร ประกอบด้วย บริษัท สยามแม็คโคร โฮลดิ้ง (ประเทศไทย) 55.1% ออร์แคม โฮลดิ้ง เอเชีย เอ็น.วี. 9.34% ไทยเอ็นวีดีอาร์ 3.78% และ บีเอ็นพี พาริบาส์ ซิเคียวริตี้ ฯ 3.21%
ด้านนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ฟินันเซียไซรัส กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของแม็คโครเป็นเรื่องที่มีการคาดการณ์มาระยะหนึ่งแล้ว ที่ผ่านมาผู้ถือหุ้นใหญ่ได้มีการประกาศขายสาขาแม็คโครในประเทศยุโรปและอินโดนีเซีย ดังนั้น การขายหุ้นในไทยจึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ