xs
xsm
sm
md
lg

“คู่กรรม” ทองโลก –บาทไทย เข้าใจก่อนลงทุน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สวัสดีครับ เห็นจั่วหัวอย่าเพิ่งเข้าใจว่าผมจะเขียนเชียร์หนังที่กำลังเข้าฉายอยู่ตอนนี้นะครับ เพียงแต่ในช่วงกว่า 4 เดือนที่ผ่านมาเห็นราคาทองคำบ้านเราลงต่อเนื่อง และก็เป็นช่วงที่ทองคำในตลาดโลก รวมถึงค่าเงินบาทไทยเป็นแรงกดดันสำคัญ ซึ่งเดิมทีนั้นราคาทองคำโลกกับเงินบาทไทยมักจะส่งผลกันไปในทางตรงกันข้าม เช่นราคาทองคำในตลาดโลกปรับตัวเพิ่มขึ้น เงินบาทในประเทศกลับแข็งค่า แต่นับจากต้นปีเป็นต้นมาทั้งทองโลกและบาทไทยกับจูงมือกันเดินไปทางเดียวกัน และเป็นทางเดินที่เป็นเชิงลบกับราคาทองคำในประเทศ  ประกอบกับแรงซื้อที่เห็นอย่างต่อเนื่อง จึงมีความกังวลว่านักลงทุนเหลียวหลังแลหน้ากันดีพอหรือยังก่อนตัดสินใจลงทุน

                สำหรับราคาทองคำในตลาดโลกที่อ้างอิงเป็นสกุลเงินดอลล่าร์สหรัฐฯ ต่อทองคำหนึ่งทรอยออนซ์ (ประมาณ 31.1035 กรัม) หลังจากที่หลุดระดับ US$1,500 ลงมาก็มีหลายสำนักบอกว่าน่าจะเข้าสู่ช่วงของตลาดหมี (ขาลง) ของทองคำ เพราะเมื่อมองผลตอบแทนในช่วงปีกว่าที่ผ่านมาก็ไม่ได้สร้างผลตอบแทนที่จูงใจมากนักต่างจากตลาดหุ้นที่สร้างผลตอบแทนเป็นเลขสองหลัก ขณะที่ปัจจัยที่อยู่ในตลาดก็สร้างทัศนคติในเชิงลบ ทั้งข่าวการขายทองคำของธนาคารกลางในยุโรป (ปัจจุบันยังไม่ได้มีการขายจริง)
ความเป็นไปได้ที่มาตรการ QE สหรัฐอเมริกาอาจจะจบลงในอนาคตเนื่องจากไม่ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจที่แท้จริง (เงินเฟ้อไม่ได้เพิ่มขึ้นตามเป้าหมาย อัตราการว่างงานยังลดลงอย่างเชื่องช้า) ขณะที่งบดุลของ FED ก็โตขึ้นเรื่อย ๆ จนสร้างความกังวลต่อภาระของ FED ในระยะยาว  (FED มีขนาดงบดุลประมาณ 3.21 ล้านล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ ณ วันที่ 10 เมษายน 56) นอกจากนี้ยังมีการขายทองคำของกองทุนขนาดใหญ่ที่เพิ่มความวิตกต่อขาลงของราคาอีก ด้านปัจจัยทางเทคนิคก็ต้องเรียนว่าหลุดกรอบ Sideway ระหว่าง 1,520 - 1,800 ดอลล่าร์สหรัฐฯ ต่อออนซ์ ไปเป็นที่เรียบร้อย โดยสรุปจึงอาจจะกล่าวได้ว่าถ้าไม่มีปัจจัยหนุนเพิ่มเติมราคาทองคำอาจจะอยู่ในช่วงขาลงไปสักระยะ

                ด้านเงินค่าเงินบาทเมื่อเทียบจากต้นปีแข็งค่าขึ้นมาประมาณ 1.95 บาทต่อหนึ่งดอลล่าร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 6.3% จากใกล้ระดับ 30.60 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐฯ มาใกล้ระดับ 28.65 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐฯ และลงไปทำจุดต่ำสุดแถว 28.55 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐฯ ในช่วงวันศุกร์ที่ผ่านมา โดยถ้าเทียบผลกระทบที่เกิดขึ้นกับราคาทองคำ ในกรณีที่ราคาทองคำในตลาดโลกคงที่ US$1,500 ต่อออนซ์ ราคาทองคำในประเทศจะลดลงประมาณ 1,390 บาทต่อหนึ่งบาททองคำ (ราคาทองคำในประเทศลดลงตั้งแต่ช่วงต้นปีประมาณ 4,900 บาทต่อหนึ่งบาททองคำ (เทียบราคาทองคำแท่งความบริสุทธิ์ 96.5%)
 
โดยการแข็งค่าของค่าเงินบาทถือว่าเป็นไปตามภูมิภาคเนื่องจากสภาพคล่องที่ล้นตลาดอยู่ในปัจจุบันจากนโยบายการเพิ่มสภาพคล่องของธนาคารกลางขนาดใหญ่โดยเฉพาะธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) และธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ประกอบกับความไม่สมดุลของเศรษฐกิจโลก กล่าวคือชาติพัฒนาอยู่ในภาวะที่ชะลอตัวในขณะที่ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่เติบโตได้ดี ทำให้เงินทุนไหลเข้าสู่ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ส่งผลให้ค่าเงินแข็งค่าขึ้นในเชิงเปรียบเทียบ สำหรับประเทศไทยนั้นการไหลเข้าของเงินทุนต่างชาติกลับมากองกันที่ตลาดตราสารหนี้สะท้อนให้เห็นการเก็งกำไรจากผลตอบแทนส่วนต่างและค่าเงิน
 
ขณะที่บางส่วนไหลเข้าตลาดหุ้นเพื่อเก็งกำไรในตราสารทุน ตัวเลขหนึ่งที่น่าสนใจคือในช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมาอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลอายุตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไปมีการปรับลดลงทั้งที่ช่วงก่อนมีการซื้อเข้ามาในตราสารหนี้ระยะสั้น ประเด็นอาจจะเป็นการเก็งกำไรจากการคาดการณ์ว่าอัตราดอกเบี้ยอาจจะมีการปรับลดลงในอนาคต อย่างไรก็ดีเมื่อมองจากบริบททางเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันก็ยังเอื้อให้เงินทุนไหลเข้าจากแรงจูงในการเติบโตทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะมาจากนโยบายรัฐ การลงทุน รวมถึงการบริโภคจึงอาจจะกล่าวได้ว่าค่าเงินบาทก็ถือเป็นปัจจัยที่ต้องระมัดระวังไม่ต่างทิศทางราคาทองคำในตลาดโลก

โดยสรุปการลงทุนทองคำสิ่งสำคัญต้องทำความเข้าใจปัจจัยที่เกี่ยวข้องที่จะกระทบต่อทิศทางราคาทองคำในตลาดโลก และค่าเงินบาท ไม่ใช่เพียงเรื่องใดเรื่องหนึ่งสุดท้ายนี้ก็ได้แต่หวังว่าทุกท่านจะลงทุนกันอย่างระมัดระวังครับ

กมลธัญ  พรไพศาลวิจิต

ผู้จัดการฝ่ายวิเคราะห์ บริษัท จีที เวลธ์ แมเนจเมนท์ จำกัด
กำลังโหลดความคิดเห็น