ธปท. ชี้ “เงินบาท” เข้าสู่แดนแข็งค่ามากเกินไป พร้อมใช้มาตรการดูแลที่มีตามความเหมาะสม เพราะทุกมาตรการต่างมีผลดี-ผลเสีย และผลกระทบในระยะยาว พร้อมยืนยันอัตราดอกเบี้ยปัจจุบันยังเอื้อต่อการขยายตัวของสินเชื่อ และการขยายตัวของเศรษฐกิจ แต่อุบประชุมบอร์ด กนง. นัดพิเศษ
นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า เงินบาทแข็งค่าเข้าสู่แดนที่แข็งค่ามากเกินไป แต่ต้องดูว่าการปรับตัวของตลาดเป็นอย่างไร และจำเป็นต้องใช้มาตรการต่างๆ ที่มีอยู่หรือไม่ ในจังหวะที่เหมาะสมอย่างไร เพราะทุกมาตรการมีผลดีผลเสีย และผลกระทบในระยะยาว
ดังนั้น การจะใช้มาตรการบางครั้งต้องให้เวลาตลาดปรับตัว อย่างไรก็ตาม การที่เงินบาทแข็งค่ามาจากปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจไทยมีความเข้มแข็งในระดับหนึ่ง ทำให้นักลงทุนมีความเชื่อมั่นจึงไม่น่าแปลกที่เงินบาทจะแข็งค่าขึ้นมาเกินพื้นฐาน
ส่วนกรณีที่ผู้ว่าการ ธปท.ระบุว่า เงินบาทแข็งค่าเกินพื้นฐานเศรษฐกิจนั้น นายไพบูลย์ กล่าวว่า ยอมรับว่าสาเหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะเข้าสู่ระดับที่ต้องระมัดระวัง แต่คิดว่านักลงทุน และผู้ร่วมในตลาดต้องใช้ความระมัดระวังเช่นเดียวกัน
ส่วนความจำเป็นที่จะต้องเรียกประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) นัดพิเศษหรือไม่นั้น นายไพบูลย์ ปฏิเสธที่จะตอบ แต่กล่าวว่า การประชุมมีกระบวนการที่ได้กำหนดไว้ภายใต้สถานการณ์ที่ต่างกันอยู่แล้ว และยืนยันว่า ทุกอย่างมีกระบวนการรองรับ และทาง ธปท.ก็มีมาตรการที่พร้อมจะใช้อยู่แล้ว แต่ต้องขึ้นกับสถานการณ์ที่เหมาะสม
ส่วนความร้อนแรงของภาคอสังหาริมทรัพย์ที่อาจส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจ รวมถึงการประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจในปีนี้นั้น นายไพบูลย์ กล่าวว่า กนง.ได้พิจารณาปัจจัยที่เป็นสมมติฐานซึ่งมีผลต่อเสถียรภาพของเศรษฐกิจไว้แล้ว ทั้งบาทแข็งค่า และการขยายตัวของสินเชื่อครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ภาวะตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่อเสถียรภาพการเงิน
นายไพบูลย์ กล่าวยืนยันว่า อัตราดอกเบี้ยยังเอื้อต่อการขยายตัวของสินเชื่อและการขยายตัวของเศรษฐกิจ และที่ผ่านมาพบว่า ภาคเอกชนมีการดูแลตัวเองมากขึ้น และทำประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนเพิ่มขึ้นประมาณ 60% ของผู้ส่งออก