“คีรี” มั่นใจกองทุนรวมในโครงสร้างพื้นฐานบีทีเอสโกรท ให้ผลตอบแทนคุ้มค่า ชี้ช่วยเพิ่มศักยภาพให้บริษัทสามารถระดมทุนกู้เพิ่มได้อีก 3 เท่าของเงินที่มี หรือ 1 แสนล้านบาท คุยยอดผู้โดยสารที่เพิ่มมากขึ้นเฉลี่ย 11% ต่อเนื่องทุกปี พร้อมเตรียมเจรจากำหนดราคาเพดานค่าโดยสารใหม่ไม่เกิน 56 บาท กับ กทม. คาดได้ข้อสรุปภายใน 1 เดือน
รายงานจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย แจ้งว่า บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS ได้เปิดเทรดกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ระบบขนส่งมวลชนทางราง บีทีเอสโกรท (BTSGIF) มูลค่ากองทุน 62,510.40 ล้านบาท โดยทันทีที่เปิดตลาดราคาปรับขึ้นไปที่ 12.10 บาท จากราคาขายหน่วยละ 10.80 บาท ปรับเพิ่มขึ้น 12.96%
นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการและประธานบริหาร บริษัท กล่าวว่า การลงทุนรวมในโครงสร้างพื้นฐานเป็นการลงทุนในระยะยาว จากที่บริษัทฯ มีภาพลักษณ์ในการปันผลที่ดี และทางรัฐบาลจะช่วยให้ผู้ถือหน่วยลงทุนไม่ต้องจ่ายภาษีรายได้เป็นเวลาถึง 10 ปี ฉะนั้น กองทุนนี้จึงถือได้ว่าเป็นกองทุนที่จะมีประโยชน์มากต่อนักลงทุนรายย่อยในระยะยาว เพราะมีอัตราการจ่ายเงินปันผลที่สูงกว่าการไปฝากเงินที่ธนาคาร และทางบริษัทจะใช้การระดมทุนในครั้งนี้ไปขยายกิจการ ในโครงการต่างๆ กับทางภาครัฐ ถ้าหากภาครัฐมีความต้องการที่จะให้ BTS เข้าไปร่วมด้วย
สำหรับเงินระดมทุนที่ได้จากการขายกองทุนในครั้งนี้ บริษัท ได้วางโครงการร่วมกันกับทางรัฐบาลในการต่อขยายเส้นทาง สร้างโครงข่ายของรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ ให้ขยายได้เร็ว และพร้อมที่สุด แม้ว่าในขณะนี้ตลาดค่าเงินบาทจะมีความผันผวนอยู่บ้าง แต่การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานจะไม่เหมือนกับการลงทุนโดยทั่วไป เพราะเป็นการลงทุนระยะยาว ซึ่งมั่นใจว่าทางรัฐบาล และ รฟม.เห็นถึงศักยภาพในการที่จะขยายโครงข่ายรถไฟฟ้าเป็นความจำเป็นอย่างมาก ที่จะช่วยแก้ใขปัญหาการจราจรในประเทศที่รถยนต์จะมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น เมื่อรัฐบาลมองเห็นความสำคัญในส่วนนี้ อาจเปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามาร่วมด้วย
ส่วนทางรัฐบาลนั้นแม้ว่าจะมีการจัดสรรเงิน 2.2 ล้านล้านบาท ในการริเริ่มโครงการก่อสร้างระบบขนส่งขนาดใหญ่ รองรับการขยายเส้นทางไปยังภูมิภาคต่างๆ หลายโครงการทั่วประเทศ แต่ในเขตกรุงเทพฯ นี้ถ้าบริษัทเอกชนมีศักยภาพ และประสบการณ์มาร่วมด้วยก็จะช่วยพัฒนาไปได้อย่างรวดเร็วขึ้น ทั้งนี้ สถานการณ์ค่าเงินบาทแข็งค่าถือได้ว่ามีประโยชน์อย่างมากที่จะช่วยให้บริษัทขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่องได้ เป็นช่วงที่ควรรีบลงทุน เพราะสามารถสั่งซื้อหัวรถไฟฟ้าได้ในราคาที่ถูกลง
ทางด้านอัตราการเติบโตของผู้โดยสาร ณ สิ้นมีนาคมที่ผ่านมานี้ สูงสุดคือ 750,000 คน/เที่ยว ซึ่งถือได้ว่าเติบโตได้ดี จากที่ผ่านมา 13 ปี เฉลี่ย 11% ต่อปี สะท้อนถึงปริมาณความต้องการใช้รถไฟฟ้าที่มีมากขึ้นทุกปี บวกกับศูนย์การค้าและคอนโดมิเนียมในแนวขนานรถไฟฟ้าที่กำลังเกิดขึ้นใหม่ และสะท้อนความต้องการของการใช้รถไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างมาก
ขณะเดียวกัน การปรับขึ้นค่าโดยสารรอบใหม่นั้น บริษัทฯ ไม่ได้มีการปรับขึ้นค่าโดยสารเป็นเวลานานกว่า 13 ปี ซึ่งโครงสร้างต้นทุนทุกอย่างเพิ่มขึ้นไปมากพอสมควร ทางบริษัทจะต้องประชุมร่วมกันกับทาง กทม. และจะสรุปได้ภายในหนึ่งเดือน เพื่อกำหนดราคาที่เหมาะสมแน่นอน โดยเพดานราคาที่กำหนดไว้สูงสุดคือ 56 บาท แต่อาจจะปรับได้ไม่ถึงเพราะต้องคำนึงถึงอัตราเงินเฟ้อ และค่าครองชีพรวมไปถึงปัจจัยผลกระทบด้านอื่นๆ อีกด้วย
“ใน 1 โครงการของ BTS ช่วงหนึ่งจะใช้งบลงทุน 5 หมื่นล้านบาท ตอนนี้เหลือเงินอยู่ประมาณ 3 หมื่นล้านบาท ซึ่งการออกกองทุน BTSGIF จะสามารถเพิ่มศักยภาพให้แก่บริษัทในการระดมทุนกู้เพิ่มขึ้นได้อีกถึง 3 เท่าของเงินที่มี หรือ 1 แสนล้านบาท เพราะฉะนั้น ในทุกช่วงของโครงการจะต้องพึ่งกองทุนต่อเนื่องกันไป ด้วยการขายกองทุนเดิมที่มีอยู่ และเป้าหมายของกองทุนจะขนานไปกับเส้นทางส่วนขยายสายต่างๆ ในกรุงเทพฯ”
อย่างไรก็ตาม BTSGIF ลงทุนในรายได้ค่าโดยสารสุทธิที่เกิดจากการดำเนินงานระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนกรุงเทพสายหลัก หักต้นทุน และค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องตามสัญญาที่ได้ตกลงกันไว้กับกองทุนนับจากวันที่กองทุนและบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ทำการซื้อขายเสร็จสิ้นจนถึงวันสิ้นอายุสัญญาสัมปทาน (4 ธันวาคม 2572) ทั้งนี้ ระบบรถขนส่งมวลชนไฟฟ้ากรุงเทพสายหลักที่กองทุนจะเข้าลงทุน ได้แก่ สายสุขุมวิท (สถานีหมอชิตถึงสถานีอ่อนนุช) และสายสีลม (สถานีสนามกีฬาแห่งชาติถึงสถานีสะพานตากสิน) ครอบคลุมระยะทาง 23.5 ตารางกิโลเมตร โดย BTSC ยังคงเป็นผู้ดำเนินงานระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนกรุงเทพสายหลักดังกล่าว