กสิกรไทย ผนึกสมาคมแฟรนไชส์ไทย และซีพี ออลล์ ร่วมส่งเสริมธุรกิจแฟรนไชส์ในประเทศไทยยุคใหม่ รองรับไทยก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน เปิดหลักสูตรให้ความรู้ในการสร้างระบบแฟรนไชส์ 20 ชั่วโมงให้แก่ผู้ที่สนใจสร้างธุรกิจของตัวเองเข้าสู่ระบบแฟรนไชส์ชนิดเข้มข้น ตั้งเป้าหมายเพิ่มจำนวนของธุรกิจแฟรนไชส์ไทยรายใหม่อีก 5-7%
นายพิภวัตว์ ภัทรนาวิก ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) (KBANK)กล่าวว่า ธนาคารกสิกรไทยได้มีบทบาทสำคัญยิ่งในการผลักดันธุรกิจแฟรนไชส์ของประเทศให้ก้าวหน้า และให้การสนับสนุนอย่างจริงจัง โดยที่ผ่านมา ธนาคารกสิกรไทยได้เข้ามามีส่วนช่วยในการสนับสนุน และผลักดันธุรกิจแฟรนไชส์อย่างเป็นรูปธรรมตั้งแต่ปี 2553 โดยการออกผลิตภัณฑ์สินเชื่อ K-SME Franchise Credit ซึ่งเป็นการให้วงเงินแก่ผู้รับสิทธิในการประกอบธุรกิจธุรกิจแฟรนไชส์ (Franchisee) ที่เลือกธุรกิจแฟรนไชซอร์ ซึ่งผ่านเกณฑ์ของธนาคารจำนวน 65 แฟรนไชส์ โดยปัจจุบัน มีผู้รับสิทธิในการประกอบธุรกิจแฟรนไชส์ที่ได้รับการสนับสนุนวงเงินไปแล้วกว่า 522 ล้านบาท
“แฟรนไชส์เป็นทางเลือกหนึ่งที่สามารถสร้างธุรกิจของตนเองให้เติบโตได้อย่างรวดเร็วขึ้น และเป็นธุรกิจที่โตอย่างมีระบบ ที่สำคัญยังสามารถสร้างรายได้ให้เจ้าของแฟรนไชส์ได้อย่างมาก”
นอกจากนี้ ธนาคารกสิกรไทยได้ร่วมมือกับ 2 หน่วยงานได้แก่ สมาคมแฟรนไชส์ไทย และ บมจ.ซีพี ออลล์ จัดโครงการอบรมระบบแฟรนไชส์ 20 ชั่วโมง ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งโครงการสำคัญในการสนับสนุนธุรกิจแฟรนไชส์ไทยเพราะจะร่วมมือกันผลักดันให้ผู้ประกอบการสามารถขยายธุรกิจโดยใช้ระบบแฟรนไชส์เข้ามาบริหารจัดการ ทำให้เกิดแฟรนไชซอร์หน้าใหม่ที่มีศักยภาพในประเทศไทยเพิ่มขึ้น ตั้งเป้าหมายเพิ่มจำนวนของธุรกิจแฟรนไชส์ไทยรายใหม่อีก 5-7%
โดยธนาคารกสิกรไทยจะให้ความสนับสนุนด้านผลิตภัณฑ์การเงินที่เหมาะสมกับการทำธุรกิจแฟรนไชส์ และองค์ความรู้ในการบริหารจัดการการเงินอย่างเป็นระบบ นอกจากนี้ ธุรกิจแฟรนไชซอร์ที่ผ่านการอบรมจะสามารถเข้ามาอยู่ในระบบรายชื่อธุรกิจแฟรนไชซอร์ของธนาคาร ซึ่งจะเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะทำให้เจ้าของแฟรนไชส์มีโอกาสในการขยายธุรกิจได้เร็วขึ้นอีกด้วย
จากข้อมูลของศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีการคาดการแนวโน้มตลาดแฟรนไชส์ในประเทศว่า ภายหลังการเปิดเสรีทางการค้าภายใต้ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ในปี 2558 จะมีตลาดแฟรนไชส์ต่างชาติที่สนใจ และเตรียมจะใช้ประเทศไทยเป็นฐานลงทุนระบบแฟรนไชส์เพื่อขยายในตลาดอาเซียน โดยส่วนใหญ่จะเป็นประเทศในเอเชีย ได้แก่ มาเลเซีย สิงคโปร์ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และจีน เป็นต้น จากทิศทางดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า ตลาดแฟรนไชส์ในประเทศไทยมีโอกาสที่จะโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยธุรกิจ Franchisors ที่ได้รับความนิยมสูงสุด 3 อันดับแรกของประเทศไทยในตอนนี้ได้แก่ 1. ธุรกิจร้านอาหาร 2.ธุรกิจร้านเครื่องดื่ม-เบเกอรี และ 3.ธุรกิจบริการ