xs
xsm
sm
md
lg

TMC ปรับแผนสร้างโรงงานใหม่ เพิ่มธุรกิจเครื่องมือ 2 & เทรดดิ้ง..ปั๊มเงิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ที.เอ็ม.ซี.อุตสาหกรรม” เดินหน้าแผนดัยรายได้โต 25% จาก 1 พันล้าน ปีก่อน ปรับแผนสร้างโรงงานใหม่ เลื่อนเป็นไตรมาส 2 เหตุพื้นที่ที่รองรับ 20 ไร่ไม่พอ เล็งนอกเมืองชลบุรี 50 ไร่ หวังขยายโรงงานล็อตเดียวไม่แบ่งเป็นเฟสๆ ดันงบลงทุนเพิ่มขึ้นกว่า 300 ล้าน พร้อมเพิ่มธุรกิจโมดิฟายเครื่องจักรมือสอง มาร์จิ้นสูง และเทรดดิ้งช่วยปั๊มเม็ดเงิน แถมได้ออเดอร์เครื่องจักรจากผู้ผลิตรถมาล็อตใหญ่
     
      
 
นายสุรเชษฐ์  กมลมงคลสุข  กรรมการผู้จัดการ บริษัท ที.เอ็ม.ซี.อุตสาหกรรม จำกัด (มหาชน) หรือ TMCประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายเครื่องจักรระบบไฮดรอลิกหลากหลายประเภท ทั้งเครื่องเพรส เครน และเครื่องทุ่นแรง เปิดเผยว่า ภาพรวมรายได้ในปี 2555 เติบโตขึ้นจากปี 2554 มากนั้น   มาจากการขยายตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ เพราะกว่า 50% ของยอดขายของ TMC มาจากอุตสาหกรรมดังกล่าว ดังนั้น ออเดอร์รถยนต์ที่เพิ่มเข้ามาทำให้มีการสั่งซื้อเครื่องจักรเพิ่ม รวมถึงอุปกรณ์เครื่องมือทุ่นแรงประเภทไฮดรอลิกเพิ่มขึ้น ส่วนภัยน้ำท่วมเมื่อปลายปี 2554 นั้น เป็นแค่ส่วนหนึ่งไม่ใช่สาเหตุหลักที่ผลักดันให้รายได้ของบริษัทเติบโตมากนัก
 
ขณะที่ภาพรวมในปี 2556 เชื่อว่าจะเติบโตจากปี 2555 อีกประมาณ 25% หรือเพิ่มขึ้นเป็น 1,250 ล้านบาท จาก 1,005 ล้านบาท เหตุหลักไม่ได้มาจากยอดการสั่งจองรถยนต์อีโคคาร์ แต่มาจากความต้องการรถยนต์ในทุกรุ่นที่เพิ่มขึ้นทั้งใน และต่างประเทศ เนื่องจากเครื่องจักรที่บริษัทผลิต และจำหน่ายมีคำสั่งซื้อทั้งจากโรงงานในประเทศ และต่างประเทศ
 
โดยปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ในการดำเนินธุรกิจ TMC ยืนยันได้ปรับปรุง และวางแผนรับมือไว้พร้อมเพียง เช่น ด้านบุคลากรซึ่งต้นทุนนี้กลายเป็นต้นทุนที่สำคัญของบริษัทภายหลังจากเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพราะบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญเป็นเรื่องที่หายาก เดิมทีก่อนเป็นบริษัทมหาชน บริษัทมีสวัสดิการให้พนักงานในรูปแบบปกติ แต่พอเข้าจดทะเบียนทำให้ต้องทำตามข้อบังคับของตลาดหลักทรัพย์ฯ คือ มีการเพิ่มสวัสดิการเข้ามาดูแลบุคลากร เพื่อให้เกิดความรัก และเชื่อมั่นในตัวองค์ ป้องกันปัญหาแรงงานไหลออก
 
“นโยบายรัฐบาลในเรื่องค่าแรง 300 บาท/วัน ยืนยันเรื่องดังกล่าวไม่มีปัญหาเพราะค่าจ้างบุคลากรของบริษัทในปัจจุบันอยู่ในระดับที่สูงกว่า และยังมีการพิจารณาปรับเพิ่ม รวมทั้งมีสวัสดิการเพิ่มขึ้น เช่น  การจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้แก่พนักงานซึ่งขอยืนยันว่า แม้จะมีการปรับเพิ่มต้นทุนในเรื่องดังกล่าวก็ยังถือเป็นต้นทุนในระดับที่น้อยมาก”
 
ด้านการลงทุน เดิมบริษัทมีความเสี่ยงในด้านการลงทุนเครื่องจักรเพราะต้องขอสินเชื่อจากภาคธนาคารเพื่อนำมาสร้างเครื่องจักรให้แก่ลูกค้าก่อน ทำให้อัตราหนี้สินต่อทุน (D/E) อยู่ในระดับสูง แต่ปัจจุบัน อยู่ที่ระดับ 0.42 เท่า จากเดิม 2 เท่ากว่า มาจากบริษัทได้รับเงินจากการขายหุ้น IPO เข้ามาเพิ่มศักยภาพในการดำเนินธุรกิจ และการลงทุนรวมทั้งมีการนำไปชำระหนี้สถาบันการเงินทำให้ปัจจุบันมีสภาพคล่องด้านการเงินในระดับที่สูงมาก
 
อย่างไรก็ตาม ด้วยการเติบโตของอุตสาหกรรมต่างๆ ของลูกค้าที่เพิ่มขึ้นสูง ได้มีผลต่อการดำเนินงานของธุรกิจด้วยเช่นกัน เดิม TMC ยื่นไฟลิ่งไปว่าเงินที่ได้จากการระดมทุน นอกจากใช้เพื่อชำระคืนเงินกู้ และเป็นทุนหมุนเวียน ยังต้องนำบางส่วนมาใช้ในการสร้างโรงงานใหม่ แต่ล่าสุด บริษัทประเมินว่าโรงงานใหม่ที่จะสร้างบนพื้นที่ที่มีอยู่ 20 ไร่ ใจกลางตัวเมืองชลบุรีนั้นไม่เพียงพอ จึงมีแผนที่จะไปซื้อที่ดินด้านนอกเขตเมืองขนาด 50 ไร่ เพื่อก่อสร้างโรงงานแทน
 
“การเติบโตของธุรกิจทำให้แผนเราเปลี่ยนไป 20 ไร่ที่มี แต่ตอนนี้มันไม่พอ  เรากำลังมองที่ดิน 50 ไร่ ซึ่งคาดว่าจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างในไตรมาส 2 นี้ แทนไตรมาส 1 และเราจะสร้างทีเดียว 3 เฟส เปลี่ยนจากทยอยสร้างโรงงานเฟสที่ 1 และค่อยมาสร้างเฟสที่ 2 และ 3 เป็นการก่อสร้างในทีเดียวทุกเฟสทำให้งบลงทุนเปลี่ยนไปจาก 255 ล้านบาท เป็น 300 กว่าล้านบาท ด้วยฐานะทางการเงินที่ดีขึ้น ก็ทำให้ธนาคารให้อัตราดอกเบี้ยน่าจูงใจ เรื่องนี้ต้องย้ำว่า 50 ไร่ เป็นการลงทุนระยะยาวช่วยลดต้นทุนต่างๆ ลงได้เยอะ โดยเฉพาะด้านลอจิสติกส์ ขณะที่กำลังการผลิต และยอดขายเมื่อเดินเครื่องเต็มที่น่าจะเพิ่มขึ้นเท่าตัว  ส่วนโรงงานที่ใจกลางตัวเมืองชลบุรีในพื้นที่ 15 ไร่ ปัจจุบันเราก็มีแผนจะย้ายไปรวมกันที่ใหม่ภายใน 5 ปี ทำให้เรามีพื้นที่ใจกลางเมืองที่มีราคาสูงถึง 35 ไร่ แบ่งเป็น 20 ไร่ที่เดิมจะใช้สร้างโรงงาน และ 15 ไร่ ของโรงงานปัจจุบัน ซึ่งสามารถขายได้กำไรสูงเพราะมีต้นทุนที่ต่ำ”

  
 
เพิ่มธุรกิจใหม่-ปั๊มรายได้
        ในแง่ธุรกิจ นอกจากการผลิตและจำหน่ายเครื่องจักร นายสุรเชษฐ์ กล่าวว่า ธุรกิจในส่วนอื่นๆ ก็เติบโตเพิ่มขึ้น ทั้งธุรกิจด้านงานก่อสร้างพบว่ายอดคำสั่งซื้อเครนติดรถบรรทุกเพิ่มสูงขึ้นมากตั้งแต่ปี 55ขณะเดียวกัน ในด้านอุตสาหกรรมเครื่องไฟฟ้าปีที่ผ่านมาก็มีออเดอร์เพิ่มขึ้น แม้จะไม่เท่ากับอุตสาหกรรมรถยนต์  โดยเป็นคำสั่งซื้อจากโรงงานผู้ผลิต อย่าง โตชิบา ฮิตาชิ รวมไปถึงธุรกิจด้านออโตเมชัน หรือระบบที่ขายไปพร้อมเครื่องจักร เพื่อช่วยลดกำลังคนในขั้นตอนการผลิต โดยสามารถนำสินค้าเข้าสู่ขั้นตอนการติดตั้งในส่วนต่อไปได้อย่างอัตโนมัติ จุดนี้ช่วยเพิ่มราคาขายให้แก่การจำหน่ายเครื่องจักรของบริษัทมาก เช่น เครื่องจักรราคา 10 ล้านบาท หากขายไปพร้อมระบบก็เพิ่มขึ้นเป็น 15 ล้านบาท
 
นอกจากนี้ บริษัทมีแผนจะเพิ่มธุรกิจใหม่อีก 2 หน่วย ประกอบด้วย ธุรกิจเทรดดิ้ง คือ การนำเข้าเครื่องจักรที่ไม่ได้ผลิตเองเป็นของรายอื่นเข้ามาจำหน่ายให้ลูกค้า และการนำเข้าเครื่องจักรมือสองเข้ามาปรับปรุงคุณภาพ และขายให้แก่ผู้ประกอบการรายย่อย ประเภทOEM ที่มีต้นทุนน้อย ซึ่งมีมาร์จิ้นถึง 20% โดยได้เริ่มดำเนินการทั้ง 2    ธุรกิจแล้วตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา
 
“ภาพรวมธุรกิจตลอด 1 ปีจากนี้ ประเมินว่า ในไตรมาสแรก TMC ยังมียอดขายไม่สูงนัก แต่จะเติบโตมากขึ้นในไตรมาส 2-3 เพราะเป็นช่วงการส่งมอบสินค้า และรับคำสั่งซื้อใหม่  ส่วน Backlog 347ล้านก็จะเริ่มทยอยรับรู้จนหมด และในไตรมาสต่อไปก็จะมี Backlog เข้ามาอีก 300-400 ล้านบาททุกไตรมาส”
 
ด้านการขยายตลาดไปต่างประเทศ TMC ยอมรับมีความสนใจเข้าไปทำตลาดในพม่าเพราะมองว่าเป็นประเทศที่ต้องการเครื่องมือสูงจากงานในด้านโครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่จำนวนมาก ซึ่งบริษัทต้องการเข้าไปแบบหาพาร์ตเนอร์มาร่วมดำเนินงาน จากล่าสุด เคยร่วมเดินทางไปศึกษาธุรกิจพร้อมกับกลุ่มผู้ประกอบการของธนาคารกรุงเทพ และอีกประเทศที่สนใจคือ บรูไน
 
“มีการประเมินว่า อุตสาหกรรมยานยนต์จะเติบโตต่อไปอีก 2-3 ปี เราก็โตด้วย จากนั้นมันจะไปโตในที่อื่นๆ เราก็จะย้ายไปโตตามอุตสาหกรรมเช่นกัน เพราะเราตามไปขายสินค้าของบริษัทด้วย  โดยเฉพาะการเติบโตในแถบอินโดจีน ปัจจุบัน เรามีสัดส่วนธุรกิจในประเทศถึง 90% ต่างประเทศเพียง 10% แต่อนาคตจะเพิ่มสัดส่วนในต่างประเทศมากขึ้น ตอนนี้เราก็มีออเดอร์เครื่องจักรกว่า 20 ล้าน จากผู้ผลิตรถรายใหญ่ที่จะไปตั้งโรงงานในอินโดนีเซียมากกว่า 10 ตัว”
 
ล่าสุด คณะกรรมการบริษัทครั้งที่ 1/2556   มีมติอนุมัติให้จ่ายเงินปันผลงวดครึ่งหลังปี 2555 (1 ก.ค.-31 ธ.ค.55) เพิ่มอีกในอัตราหุ้นละ   0.12  บาท    เมื่อรวมกับที่จ่ายเงินปันผลงวดระหว่างกาล (1 ม.ค.-30 มิ.ย.55) ไปในอัตราหุ้นละ 0.09 บาท เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2555 ส่งผลให้บริษัทจ่ายปันผลตอบแทนให้แก่ผู้ถือหุ้นงวดปี 2555 ในอัตราหุ้นละ 0.21 บาท โดยกำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิรับเงินปันผลในวันที่ 29 เมษายน 2556    และปิดสมุดทะเบียนในวันที่ 30 เมษายน 2556 (XD  วันที่ 25เมษายน 2556) และกำหนดจ่ายเงินปันผลวันที่ 17 พฤษภาคม 2556  นี้
กำลังโหลดความคิดเห็น