ธปท. ชี้ปี 56 เป็นปีแห่งการลงทุนของไทย เผยเงินบาทเริ่มนิ่งขึ้น แม้เดือน ม.ค. จะมีเงินไหลออกจากตลาดหุ้นจำนวนมาก ยันการดูแลเสถียรภาพค่าเงินยังใช้หลักความไม่ประมาท พร้อมเกาะติดกระแสเงินทุนไหลเข้ารอบใหม่
นางผ่องเพ็ญ เรืองวีรยุทธ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ขณะนี้การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทมีความสมดุลมากขึ้น มีทั้งการไหลเข้ามาลงทุนในตลาดพันธบัตร แต่ในจำนวนน้อยลงกว่าเดือนมกราคมที่ผ่านมา และมีเงินทุนไหลออกจากตลาดหุ้น ซึ่งถือเป็นภาวะปกติ ส่งผลให้เงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบแคบๆ เมื่อผู้ส่งออกมีการขายเงินดอลลาร์สหรัฐเพื่อแลกเป็นเงินบาท ผู้นำเข้าก็ซื้อดอลลาร์สหรัฐกลับเพื่อชำระค่าสินค้า และเครื่องจักรที่มีการนำเข้ามาเพิ่มการผลิต และการลงทุน เนื่องจากปีนี้เป็นปีแห่งการลงทุนของไทย
อย่างไรก็ตาม ธปท. ยังต้องติดตามการเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยน เพราะอนาคตยังมีกระแสเงินทุนไหลเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น เนื่องจากเศรษฐกิจเอเชียยังเป็นตัวหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก แต่ยอมรับว่า อาจจะมีเงินทุนบางส่วนที่ยังลงทุนในสหรัฐฯ หลังสัญญาณเศรษฐกิจสหรัฐฯ ดีขึ้น
ทั้งนี้ ธปท. ยังคงต้องติดตามปัจจัยต่างๆ ที่อาจจะมีการเปลี่ยนแปลง ทั้งนโยบายการเงินของรัฐบาลญี่ปุ่น และแนวทางการฟื้นฟูเศรษฐกิจยุโรป และสหรัฐฯ ที่อาจจะมีพัฒนาการทั้งบวกและลบ ซึ่งจะมีผลต่อการเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยนในอนาคต
“ตอนนี้ทั้งดีมานด์ และซัปพลายมีความสมดุล เงินบาทจึงเคลื่อนไหวแคบๆ ไม่ไปไหนไกล แต่ไม่ประมาท เนื่องจากมีโอกาสจะไหลเข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มขึ้นในระยะต่อไป เพราะสถานการณ์ยังมีการเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา”
ส่วนแผนแม่บทเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศในระยะที่ 2 ที่จะเริ่มต้นในปี 2557 ธปท. จะเปิดให้นักลงทุนรายย่อยลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศได้ด้วยตนเอง โดยไม่ต้องผ่านตัวแทน ในวงเงินไม่เกิน 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อราย ซึ่งจะช่วยลดขั้นตอนการขออนุญาตจาก ธปท. สนับสนุนให้เงินทุนไปลงทุนต่างประเทศมากขึ้น ซึ่งต้องสร้างความรู้ และความเข้าใจให้นักลงทุน ขณะที่ บล. บลจ. ต้องเร่งสร้างความพร้อมในการแข่งขัน
นางผ่องเพ็ญ ยังกล่าวถึงภาวะเศรษฐกิจไทยในปี 2556 โดยยอมรับว่า มีแรงส่งจากอุปสงค์ในประเทศสูง จึงมีโอกาสที่ ธปท.จะปรับประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปี 2556 เพิ่มจากปัจจุบันคาดการณ์ไว้ค่อนข้างต่ำที่ร้อยละ 4.9 แต่ขึ้นอยู่กับการพิจารณาข้อมูลล่าสุดของคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. ในวันที่ 3 เมษายนนี้ว่า จะเปลี่ยนแปลงไปจากที่ประเมินหรือไม่