xs
xsm
sm
md
lg

TUF เพิ่มเงินลงทุนสร้าง รง.ใหม่ ปีนี้ “แพคฟู้ด” ส่งรายได้ 300 ล.เหรียญ (ชมคลิป)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 “ทียูเอฟ” ปรับเพิ่มเม็ดเงินลงทุนเป็น 6,000 ล้านบาท ลุยสร้างโรงงานกุ้งแช่แข็ง-ปลาแซลมอน และขยายปริมาณห้องเย็น คาดปีนี้รับรู้รายได้จาก “แพคฟู้ด” 6-7 พันล้านบาท เริ่ม มี.ค.นี้ ดันทั้งปีเติบโต 15% “ธีรพงศ์” มั่นใจปี 56 เห็นตัวเลข 4,000 ล้านเหรียญ ส่วนปี 58 แตะ 5,000 ล้านเหรียญแน่ ย้ำ จีเอสพี ค่าเงิน-วัตถุดิบผันผวนยังรับมือได้

    นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานกรรมการบริหาร บมจ.ไทยยูเนี่ยน โฟรเช่น โปรดักส์ หรือ TUF เปิดเผยว่า ในปี 2556 บริษัทยังตั้งเป้ารายได้ 4,000 ล้านเหรียญ และปี 2558 ยังวางเป้าไว้ที่รายได้ 5,000 ล้านเหรียญ เช่นเดิม ซึ่งเชื่อว่าอัตราการเติบโตเฉลี่ยทั้งปียังอยู่ที่ 15% เช่นเดียวกับ Gross margin ที่ 16%

    โดยแผนดำเนินงานปี 56 บริษัทปรับเพิ่มเม็ดเงินลงทุนเป็น 6,000 ล้านบาทต่อปี ระยะเวลา 3 ปี จากแต่เดิมที่ผ่านมา จะใช้เม็ดเงินลงทุน 3,000 ล้านบาทต่อปี  เป็นการสร้างโรงงานกุ้งแช่แข็งใหม่ทดแทนโรงงานเดิมที่ไฟไหม้ การปรับปรุงโรงงานปลาแซลมอน และเพิ่มโรงงานปลาแซลมอนใหม่ จาก 100 ตัน/วัน เป็น 200 ตัน/วัน และการเพิ่มปริมาณห้องเย็นเป็น 30,000 ตัน ภายในปีนี้จากปัจจุบันมีอยู่ 10,000 ตัน ซึ่งเงินทุนที่เพิ่มมาจากทุนหมุนเวียนของบริษัท

     “เราเชื่อว่าปีนี้เราจะมีรายได้ 4,000 ล้านเหรียญ และเป็น 6,000 ล้านเหรียญ ในปี 2558 D/E ตอนนี้เหลือ 0.8 เท่า อยู่ในระดับที่ดี เราระดมทุนไปใช้หนี้ไปแล้ว 9,560 ล้านบาท ในปีก่อน ทำให้ภาระดอกเบี้ยในปีนี้เราลดลงมาก ส่วนโรงงานกุ้ง และปลาแซลมอนใหม่เราคาว่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 2,500 ล้านบาท”

    ขณะเดียวกัน ในปีนี้บริษัทได้เข้าถือหุ้นใน บริษัท แพคฟู้ด จำกัด (มหาชน) หรือ PPC ซึ่งประกอบธุรกิจแปรรูปและส่งออกอาหารทะเลและอาหารสำเร็จแล้ว จำนนวน 54% ซึ่งอาจมีการเพิ่มจำนวนสัดส่วนการถือหุ้นอีก โดยคาดว่าจะมีความชัดเจนภายในไม่กี่เดือนจากนี้ อย่างไรก็ตาม ณ ปัจจุบัน แพคฟู้ด ถือเป็นบริษัทย่อยของ TUF แล้ว ซึ่งจะเริ่มรับรู้รายได้จากการลงทุนภายในมีนาคมนี้  โดยคาดว่าในปี 2556 จะสร้างรายได้ให้ TUF ประมาณ 6,000-7,000 ล้านบาท หรือ 200-300 ล้านเหรียญ

นอกจากนี้ บริษัทฯ จะเน้นการขยายการลงทุนด้านการขยายกำลังการผลิต และพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ควบคู่ไปกับการขยายตลาดโดยจะมุ่งเน้นไปในทวีปยุโรป เช่น อิสเทิร์นยุโรป รัสเซีย และเยอรมนี  รวมถึงขยายตลาดไปในกลุ่มประเทศประชาคมอาเซียน หรือเออีซี เช่น เวียดนาม พม่า กัมพูชา ลาว อีกทั้งยังเตรียมขยายเข้าไปในประเทศอินโดนีเซีย ด้วยแบรนด์ซีเล็ค ฟิซโซ และเบลลอตต้า เช่นเดียวกับการทำธุรกรรม M&A ที่ยังคงมีอยู่

     นายธีรพงศ์ กล่าวเสริมว่า ในไตรมาส 1/56 ภาพรวมการดำเนินธุรกิจของบริษัทจะดูดีขึ้นจากไตรมาส 4/55   เนื่องจากราคาวัตถุดิบปลาทูน่า จะไม่ผันผวนลงมาอยู่ที่ 1,900 เหรียญ/ตัน เหมือนช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปีก่อน จนทำให้ลูกค้าชะลอการตัดสินใจ โดย ณ ขณะนี้ ราคากลับมาอยู่ 2,200 เหรียญ/ตัน ส่วนธุรกิจกุ้ง  คาดว่าน่าจะกลับมาสู่สภาวะปกติได้ในช่วงไตรมาส 2-3 ซึ่งจะทำให้รายได้ของบริษัทเติบโตไปตามเป้าหมาย

    ส่วนความกังวลในเรื่องที่สหภาพยุโรป (อียู) มีแนวโน้มจะตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี) สินค้ากุ้ง รวมถึงสินค้าไทยอีก 50-60 รายการ นั้น ซีอีโอTUF ยืนยันว่าไม่ใช่ปัญหาที่สำคัญของบริษัท เนื่องจากสามารถแปรผันเป็นสินค้าเพิ่มมูลค่า ซึ่งจะช่วยเพิ่มการส่งออก และทดแทนรายได้จากเรื่องดังกล่าวได้

    ขณะเดียวกัน ยังยืนยันว่าแม้ค่าเงินบาทจะมีความแข็งค่ามาตั้งแต่ปลายปีก่อน แต่ก็ยังไม่มีผลกระทบมากนักต่อการดำเนินงานของบริษัท เนื่องจากสกุลเงินในการทำธุรกิจของ TUF ยังเน้นเป็นดอลลาร์สหรัฐ อีกทั้งสถานการณ์ของค่าเงินบาทในปัจจุบันจะยังไม่แน่นอน แต่เชื่อว่าจะไม่มีผลกระทบต่อราคาหุ้น และการดำเนินงานของบริษัทอย่างที่นักวิเคราะห์จากโบรกเกอร์หลายแห่งประเมินไว้ เนื่องจากบริษัทไม่ได้นิ่งนอนใจ ยอมรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ได้ปรับแผนธุรกิจเพื่อเลี่ยงผลกระทบต่างๆ อยู่ตลอดเวลา

 สำหรับผลประกอบการปี 2555  บริษัทมียอดขายเป็นสกุลเงินบาททั้งสิ้น 106,698 ล้านบาท (3,441 ล้านเหรียญ) เติบโตขึ้น     8% (6%) จากปีก่อนที่มีรายได้ 98,670 ล้านบาท (3,232 ล้านเหรียญ)  แต่กำไรสุทธิลดลง 8% มาอยู่ที่ 4,694 ล้านบาท จาก 5,117 ล้านบาทในปี 54 จากการแข็งค่าของเงินบาท โรงงานกุ้งไฟไหม้ ราคาวัตถุดิบปรับตัวผันผวน ทำให้ลูกค้าชะลอซื้อและมีผลต่อการดำเนินไตรมาส 4

    อีกทั้งจะเสนอต่อคณะกรรมการพิจารณาจ่ายเงินปันผลจากผลการดำเนินงาน 6 เดือน (ก.ค.-ธ.ค.55) ในอัตราหุ้นละ 1 บาท ในการประชุมสามัญประจำปี 2556 นี้ด้วย

       
      
       
  


กำลังโหลดความคิดเห็น