แบงก์กรุงเทพยกระดับร่วมมือ BTSC ออกบัตรเดบิต-เครดิต แรทบิท ตอบสนองกลุ่มนักเรียน-นักศึกษา-คนทำงาน มั่นใจช่วยตอบโจทย์ได้ทั้งความสะดวก และสิทธิประโยชน์
นายทวีลาภ ฤทธาภิรมย์ กรรมการผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)(BBL)เปิดเผยว่า ธนาคารได้ร่วมกับบริษัทบางกอก สมาร์ท ซิสเทม จำกัด (BSS) ในเครือบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (BTSC) ในการร่วมออกบริการทางการเงินภายใต้ชื่อ “บัตรเดบิตเฟิสต์ สมาร์ท แรบบิท“ และ “บัตรเครดิต ธนาคารกรุงเทพ แรทบิท”
ทั้งนี้ ผู้ถือสามารถใช้ชำระค่าสินค้า และบริการ ณ ร้านค้าที่มีสัญลักษณ์วีซ่า บัตรเอทีเอ็ม สำหรับเบิกถอนเงินสด บัตรโดยสารรถไฟฟ้าบีทีเอส และรถโดยสารประจำทางด่วนพิเศษ BRT บัตรเงินอิเล็กทรอนิกส์ ณ ร้านพันธมิตรที่มีสัญลักษณ์แรทบิท ซึ่งนับเป็นบัตรใบแรก และใบเดียวของสถาบันการเงินไทยที่สามารถใช้ได้กับรถไฟฟ้าบีทีเอส
“กลุ่มเป้าหมายของเราก็เป็นในทุกๆ วัย จะเห็นได้จากบัตรเดบิตของธนาคาร จะแยกมี 2 กลุ่ม คือ บัตรสำหรับนักเรียน-นักศึกษา และบัตรสำหรับบุคคลทั่วไป ซึ่งธนาคารไม่ได้วางเป้าหมายที่ตายตัวไว้เกี่ยวกับจำนวนผู้ถือบัตรดังกล่าว แต่ปัจจุบัน ธนาคารกรุงเทพมีผู้ถือบัตรธนาคารที่เชื่อมกับ BTS อยู่ 2 แสนใบ ซึ่งในส่วนนี้หากโอนมาใช้บัตรรูปแบบใหม่ก็จะทำได้โดยไม่เสียค่าธรรมเนียมในช่วงโปรโมชันนี้”
แย้มเทสต์ปล่อยกู้สินเชื่อบุคคล
สำหรับการทำธุรกิจสินเชื่อบุคคลนั้น ขณะนี้ธนาคารอยู่ระหว่างพิจารณาเพื่อวางแนวทางในการดำเนินธุรกิจอย่างเหมาะสม โดยจะต้องมีการเตรียมการให้พร้อมทั้งในด้านงานวิจัย งานเอกสาร รวมถึงบุคลากรที่จะต้องให้ความรู้ เนื่องจากเป็นงานที่มีรายละเอียดมาก และมีรูปแบบเฉพาะ ซึ่งหากไม่มีการเตรียมความพร้อมที่ดีก็จะอาจทำให้เกิดความเสี่ยงได้
“เรื่องสินเชื่อบุคคลเราก็อยากทำอยู่ แต่ถ้าจะทำก็ต้องมีความพร้อมก่อน เพราะเป็นธุรกิจที่มีความเสี่ยง มีผลตอบแทนที่ดี แต่จะดูเรื่องผลตอบแทนอย่างเดียวก็ไม่ได้ ซึ่งตอนนี้เราก็ได้ทดลองตลาดไปบ้างแล้ว แต่เป็นส่วนของลูกค้าเก่าไปก่อน และก็ยังมุ่งไปในส่วนของสินเชื่อที่มีหลักประกันไปก่อน”
ส่วนสินเชื่อบ้านโอดีที่ได้เปิดตัวไปเมื่อปลายปีก่อนนั้น ก็ได้รับการตอบรับที่ดีจากลูกค้าที่มีสินเชื่อบ้านอยู่กับธนาคาร เนื่องจากลูกค้าสามารถนำเงินที่ได้จากสินเชื่อไปซ่อมแซม หรือตกแต่งบ้านได้หลังการผ่อนมาระยะหนึ่ง โดยในปีนี้ธนาคารตั้งเป้าสินเชื่อบ้านเติบโตที่ระดับ 10-12% จากยอดคงค้างสิ้นปีก่อนที่ระดับ 1.5 แสนล้านบาท
นายทวีลาภ กล่าวอีกว่า การที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ส่งสัญญาณเตือนเรื่องฟองสบู่ทั้งในส่วนสินเชื่อบุคคล และอสังหาริมทรัพย์นั้น ก็เป็นเรื่องที่ธนาคารต้องจับตามอง แม้สัญญาณจะยังไม่ชัดเจนก็ตาม ขณะที่ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ก็ต้องระมัดระวังในจุดนี้เช่นกัน