xs
xsm
sm
md
lg

มั่นใจ พ.ร.บ.ร่วมทุนฉบับใหม่คุมทุจริตได้อยู่หมัด คาดเมกะโปรเจกต์ 2 ล้าน ล. เข้าเกณฑ์ 20%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สคร. ใส่เกียร์เดินหน้า พ.ร.บ. ร่วมทุนฉบับใหม่ มั่นใจ กม. ครอบคลุม-ป้องกันทุจริต ทั้งฮั้วประมูล และปัญหาเสียค่าโง่ได้อยู่หมัด แย้มโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท เข้าเกณฑ์ 20% หรือคิเป็นมูลค่า 3-4 แสนล้านบาท โดยส่วนใหญ่จะเป็นโครงการรถไฟฟ้า 10 สาย โครงการรถไฟความเร็วสูง และโครงการทางหลวงพิเศษสายต่างๆ

นายประสงค์ พูนธเนศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. ... ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาแล้ว โดยอยู่ระหว่างการนำขึ้นทูลเกล้าถวาย เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย ซึ่งเบื้องต้น คาดว่าน่าจะสามารถบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวได้ในช่วงเดือน ก.พ.-มี.ค.2556

สำหรับหลักการของ พ.ร.บ. ร่วมทุนฯ ฉบับใหม่ดังกล่าว จะมีการเพิ่มรายละเอียดของกฎหมายเป็น 72 มาตรา จากเดิมที่ 27 มาตรา ร่วมถึงจะมีการร่างกฎหมายลูกอีก จำนวน 16 ฉบับ เพื่อให้การดำเนินงานในโครงการร่วมทุนต่างๆ ระหว่างรัฐและเอกชนมีความโปร่งใส และสะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ สคร. จะทำหน้าที่ในการรวบรวบข้อมูลเกี่ยวกับโครงการลงทุนตาม พ.ร.บ. ร่วมทุนฉบับใหม่ว่า มีโครงการอะไรบ้าง มูลค่าโครงการมีจำนวนเท่าไหร่ เพื่อให้ทราบถึงทิศทางการลงทุนตามกฎหมายดังกล่าวในระยะต่อไปว่า จะมีทิศทางเป็นอย่างไร โดยเฉพาะโครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาล วงเงิน 2 ล้านล้านบาทนั้น จะมีโครงการที่เข้าหลักเกณฑ์ พ.ร.บ. ร่วมทุนฉบับใหม่ ประมาณ 20% หรือ 3-4 แสนล้านบาท โดยส่วนใหญ่จะเป็นโครงการรถไฟฟ้า 10 สาย โครงการรถไฟความเร็วสูง และโครงการทางหลวงพิเศษสายต่างๆ

“ตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฉบับใหม่ จะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการร่วมทุน ซึ่งเบื้องต้นจะมี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน คณะกรรมการชุดนี้จะมีหน้าที่พิจารณากลั่นกรองโครงการต่างๆ ที่จะเข้าสู่ พ.ร.บ.ร่วมทุนฉบับใหม่ รวมถึงจะมีการร่างสัญญาในส่วนของการลงทุนตาม พ.ร.บ.ดังกล่าว ให้มีความชัดเจน และเป็นมาตรฐานเดียวกัน เพื่อป้องกันการทุจริต การฮั้วประมูล หรือป้องกันการเสียค่าโง่ที่อาจเกิดขึ้นในขั้นตอนต่างๆ ได้แน่”

นายประสงค์ กล่าวเสริมว่า ในส่วนขนาดของโครงการลงทุนใน พ.ร.บ. ร่วมทุนฉบับใหม่ กำหนดไว้อยู่ที่ 1 พันล้านบาท แต่จะมีการให้อำนาจรัฐมนตรีในการกำหนดมูลค่าโครงการลงทุนตามความเหมาะสม

ทั้งนี้ คาดว่า พ.ร.บ.ร่วมทุนฉบับใหม่ จะใช้ระยะเวลาในกระบวนการพิจารณาโครงการที่สั้นลงอย่างมาก โดยจะอยู่ที่ 7-8 เดือน จากของเดิมอยู่ที่ 2 ปี ซึ่งในส่วนนี้ถือเป็นข้อดีอย่างมากที่จะช่วยทำให้โครงการก่อสร้างเดินหน้าได้เร็วขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น