xs
xsm
sm
md
lg

ตลท.เล็งเพิ่มมาตรการคุมหุ้นร้อน หลังแคชบาลานซ์สู้แรงเก็งกำไรไม่ไหว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ตลาดหลักทรัพย์ฯ กำลังศึกษาเพิ่มประสิทธิมาตรการกำกับดูแลการซื้อขายหุ้นมากขึ้น หลังใช้เกณฑ์แคชบาลานซ์แล้ว  ราคาหุ้นวิ่งต่อ  เหตุวอลุ่มเทรดปรับตัวเพิ่มขึ้นจากหุ้นเก็งกำไร  พร้อมเตรียมแผนเปิดประตูสู่การลงทุนประเทศลุ่มน้ำโขง
 
นายภากร ปีตธวัชชัย รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร และการเงิน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า  ตลาดหลักทรัพย์ฯ อยู่ระหว่างการศึกษาว่าจะมีการดำเนินใช้มาตรการกำกับดูแลการซื้อขายให้มีประสทธิภาพมากขึ้น และทำให้ผู้ที่จะเข้ามาสร้างราคาหุ้นทำได้ยากขึ้น เนื่องจากช่วงเดือนมกราคม มูลค่าการซื้อขายได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 3.2 หมื่นล้านบาท เป็น 5.6 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 60-80%  ซึ่งพบว่านักลงทุนรายย่อยมีสัดส่วนการซื้อขายที่มากขึ้น จาก 52% เป็น 62% และมูลค่าการซื้อขายที่เพิ่มขึ้นมาจากหุ้นขนาดกลางตั้งแต่ SET 51-100   และมีค่าP/E สูงเกิน 40 เท่า

     ทั้งนี้ จากการที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้มีมาตการดูแลหุ้นที่มีปริมาณการซื้อขายสูงขึ้นกว่าปกติ โดยให้ บล.ดำเนินการให้นักลงทุนวางเงินสดเต็มจำนวนก่อนซื้อหุ้น (แคชบาลานซ์) นั้น พบว่า หุ้นที่ติดแคชบาลานซ์นั้นมีวอลุ่มการซื้อขายที่ลดลง แต่ราคาหุ้นไม่มีการปรับตัวลดลง แต่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อ  ซึ่งตลาดหลักทรัพย์ฯ กำลังหารือกับทางสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทยว่าจะมีการดำเนินการอย่างไรดี

     “การเก็งกำไรนั้นไม่ถือว่าผิด หากมีปัจจัยพื้นฐานรองรับ  จากการที่วอลุ่มเทรดปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงในหุ้น NON SET 50  -100 และหุ้นมีค่า P/E สูง เกิน 40 เท่า ขณะนี้มีหลาย 100 ตัว  จากที่ผ่านมาไม่ถึง 100 ตัว   ตลาดหลักทรัพย์ฯ และ ก.ล.ต.มีความกังวล  จากที่การซื้อขายมีกการเก็งกำไรสูงขึ้นในบางกลุ่ม  ซึ่ง ก.ล.ต.ให้ บล.มีการทำการรู้จักตัวตนลูกค้า (KYC) และตลาดหลักทรัพย์ฯ มีประกาศรายชื่อหุ้นที่ติดแคชบาลานซ์ เพื่อเตือนนักลงทุนในหุ้นที่มีการหมุนเยอะ ซึ่งจากนักลงทุนเข้ามาเยอะ จึงต้องมีการดูแลมากขึ้น” นายภากรกล่าว

     สำหรับแผนงานระยะยาวของตลาดหลักทรัพย์ฯ ต้องการที่จะเป็นประตูสู่การลงทุนประเทศลุ่มน้ำโขง (CLMV)  ประกอบด้วย กัมพูชา ลาว พม่าและเวียดนาม มีโอกาสเติบโตทางเศรษฐกิจในระดับสูง และมีความต้องการลงทุน ระดมทุนอีกเป็นจำนวนมาก ขณะเดียวกัน จะมีกลุ่มผู้ลงทุนต้องการไปลงทุนในกลุ่มประเทศเหล่านี้ ทางตลาดหลักทรัพย์ฯ เห็นว่าเป็นโอกาสในอันที่จะเป็นตัวกลางในการเชื่อมโยงของผู้ที่ต้องการลงทุน และระดมทุน โดยจะต้องสร้างให้ประเทศไทยเป็นฐาน

     ทั้งนี้ สามารถทำได้ 3 แนวทางด้วยกัน 1.การใช้เครื่องมือตราสารแสดงสิทธิในผลประโยชน์ที่เกิดจากหลักทรัพย์อ้างอิง (TDR) โดยเป็นการนำหุ้นจากประเทศดังกล่าวมาให้นักลงทุนในไทยสามารถได้ซื้อขาย  2.การจดทะเบียนสองตลาด (ดูโอ และครอส ลิสติ้ง) และ 3.การให้บริษัทที่เข้าไปร่วมลงทุนในกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขง เข้าจดทะเบียนในเกณฑ์ของโฮลดิ้งคอมพานี

    อย่างไรก็ตาม ทั้ง 3 แนวทางนี้ บางข้อต้องมีการปรับกฎเกณฑ์เพิ่มเติม เช่น เกณฑ์โฮลดิง ยังมีประเด็นเรื่องของภาษีเงินปันผล ขณะที่การจดทะเบียนสองตลาดนั้นอาจมีปัญหาเรื่องมาตรฐานทางบัญชี การเปิดเผยข้อมูลของกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขงอาจยังไม่ได้มาตรฐานสากล ซึ่งในประเด็นนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ มีแนวคิดว่า อาจเปิดให้ซื้อขายอีกกกระดานแยกชัดเจนออกจาก SET โดยนำสินค้าที่ในกลุ่มลุ่มน้ำโขงเปิดให้ซื้อขาย แต่จะจำกัดกลุ่มผู้ลงทุนที่จะเข้ามาลงทุนจะต้องมีความรู้ความเข้าใจ หรือได้รับอนุญาตจาก ก.ล.ต.ในกลุ่มนักลงทุนประเภท Accredited Investor (AI)


กำลังโหลดความคิดเห็น