บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ยูโอบี (ไทย) จำกัด รายงานภาวะการลงทุนช่วงปลายปี 2555 ที่น่าสนใจว่า จากการที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คงอัตราดอกเบี้ยเนื่องจากประเมินว่าเศรษฐกิจโลกมีสัญญาณฟื้นตัว รวมถึงคาดว่าการส่งออกของไทยจะฟื้นตัวได้ในปี 2556 ส่งผลบวกต่อหุ้นธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่
ทั้งนี้ ในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา เดือนสุดท้ายของปียังคงมีทิศทางที่เป็นบวก โดยแรงสนับสนุนหลักจะมาจากนักลงทุนในประเทศ โดยเฉพาะแรงซื้อจากกองทุนประหยัดภาษี ทั้ง LTF และ RMF โดยแรงซื้อส่วนใหญ่จะเข้ามาในเดือนสุดท้ายของปี (ร้อยละ 48 ของยอดซื้อทั้งปี) มูลค่าเม็ดเงินประมาณ 1.5-2 หมื่นล้านบาท ในขณะที่นักลงทุนต่างประเทศคาดว่าจะชะลอการลงทุนในช่วงปลายปี ซึ่งเป็นช่วงหยุดพักผ่อนประจำปี ดังนั้นจึงคาดว่าดัชนี SET index ในเดือนธันวาคมจะเคลื่อนไหวในกรอบ 1,300-1,360 จุด อย่างไรก็ตาม ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ มีความผันผวนไปตามรอบการเจรจาระหว่างพรรครีพับลิกันกับประธานาธิบดีโอบามาในประเด็นมาตรการภาษี และการลดค่าใช้จ่ายภาครัฐ (Fiscal Cliff) ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปอย่างเป็นรูปธรรมในช่วงก่อนวันคริสต์มาสตามที่ประธานาธิบดีโอบามาได้ระบุไว้ในการให้สัมภาษณ์ และการครบกำหนดชำระหนี้ก้อนใหญ่ (ประมาณ 5.6 หมื่นล้านยูโร) ของประเทศอิตาลีในเดือนธันวาคมนี้เช่นกัน
ทางด้านสถานการณ์ในยุโรป ได้บรรลุข้อตกลงเพื่อให้ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) มีอำนาจใหม่ในการกำกับดูแลภาคธนาคารในยูโรโซน และแทรกแซงธนาคารขนาดเล็กเมื่อมีสัญญาณปัญหาเริ่มแรก และได้บรรลุข้อตกลงที่จะเบิกจ่ายเงินช่วยเหลือเกือบ 5.0 หมื่นล้านยูโรให้แก่กรีซ โดยจากการประชุม EU Summit ที่ผ่านมานั้นได้มีการเจรจาถึงโครงการที่จะมีการแต่งตั้งให้ธนาคารกลางยุโรป (ECB) เป็นหน่วยงานเดียวในยุโรปที่จะกำกับดูแลความเสี่ยงให้ธนาคารพาณิชย์ทั่วยุโรปได้โดยตรง ซึ่งถึงแม้ว่ามาตรการดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ในเดือนมีนาคม ปี 2014 แต่ความคืบหน้าในการแก้ไขวิกฤตยูโรโซนนั้นได้เพิ่มความมั่นใจให้นักลงทุนในตลาด
อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นทั่วโลกเริ่มฟื้นตัวได้หลังจากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ และจีนส่งสัญญาณฟื้นตัว รวมถึงเริ่มมีแนวโน้มว่าประเด็น Fiscal cliff จะสามารถหาข้อตกลงได้ ซึ่งธนาคารกลางสหรัฐฯ ยังคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ใกล้ระดับ 0% และมีการต่ออายุมาตรการ Quantitative Easing แทนมาตรการ Operation Twist ที่กำลังจะหมดอายุลง อย่างไรก็ตาม คำแถลงการณ์ของนายเบน เบอร์นันกี ที่จะยังคงมาตรการผ่อนคลายทางการเงินจนกว่าอัตราการว่างงานจะปรับลดต่ำกว่า 6.5% นั้นถือเป็นครั้งแรกที่เฟดให้เป้าหมายที่ชัดเจน ซึ่งถือเป็นปัจจัยที่ดีต่อตลาดและลดความกังวลของนักลงทุนบางส่วนต่อการขึ้นดอกเบี้ย หรือยกเลิกมาตรการผ่อนคลายทางการเงินหลังจากตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯ
ขณะที่เศรษฐกิจจีน นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ต่างมองถึงการเติบโตของ GDP ที่ระดับ 8.1% ในปี 2556 ซึ่งตัวเลขดังกล่าวนั้นสอดคล้องกับตัวเลขของทางรัฐบาล จากการที่ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมของจีนเริ่มกลับมากักตุนสินค้าอีกครั้งจากแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในปีหน้า
โดยล่าสุดหลังการประชุมกำหนดนโยบายประจำปีที่มีนายสี จิ้นผิง ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์จีน ที่ผ่านมา มีแนวทางว่าจีนจะดำเนินนโยบายเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องในปีหน้า และเปิดโอกาสที่จะมีการดำเนินการท่ามกลางความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลก รวมทั้งจะปฏิรูปมากขึ้นเพื่อสนับสนุนการขยายตัวในระยะยาว มาตรการของทางการจีนได้เพิ่มความเชื่อมั่นในตลาดหุ้นจีน ประกอบกับความหวังที่ว่าผู้นำใหม่ของจีนจะประสบความสำเร็จในการทำให้เศรษฐกิจมีเสถียรภาพและผลักดันการปฏิรูปนั้น ทำให้ตลาดหุ้นจีนดีดตัวขึ้นจากระดับต่ำสุดในรอบหลายปีที่ทำไว้ในช่วงต้นเดือนนี้ โดยดัชนีหุ้นจีนได้ปรับขึ้นขานรับกว่า 10% จากจุดต่ำสุดในต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา
ด้าน บลจ.ทิสโก้ให้มุมมองการลงทุนในปีหน้าว่า ภาพของการลงทุนเศรษฐกิจโลกมีความกังวลจากปัญหายุโรปลดลง จึงแนะนำให้นักลงทุนปรับพอร์ตการลงทุนโดยเน้นสินทรัพย์เสี่ยงเพิ่มขึ้น จากที่ผ่านมาลงทุนในตราสารหนี้จำนวนมากและเริ่มให้ผลตอบแทนน้อยลง คาดว่าในปีหน้าบริษัทจดทะเบียนจะเติบโตได้ประมาณ 15-18% โดยแนะนำลงทุนในหุ้นจีน เอเชียแปซิฟิก ซึ่งมองว่าหลังจากที่จีนได้ผู้นำคนใหม่แล้ว นโยบายทางเศรษฐกิจก็จะมีการเดินหน้ากระตุ้นการลงทุน ขณะที่ราคาหุ้นของจีนถือว่าถูกกว่าในอดีตมาก ปัจจุบันมี P/E อยู่ที่ประมาณ 9 เท่า จากในอดีตซึ่งอยู่ที่ประมาณ 14 เท่า ซึ่งนักลงทุนต่างชาติได้เข้าไปลงทุนจำนวนมากแล้วในตลาด H-Share เมื่อเทียบกับตลาด A-Share
ตลาดตราสารหนี้
ในการประชุมครั้งล่าสุดเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2555 ที่ผ่านมา คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 2.75 ต่อปี โดยให้เหตุผลว่าความเสี่ยงทางด้านการขยายตัวทางเศรษฐกิจลดลง ขณะที่แรงกดดันเงินเฟ้อยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ อัตราดอกเบี้ยนโยบายในปัจจุบันยังอยู่ในระดับผ่อนปรนและเหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจในระยะต่อไป อย่างไรก็ดี ในปี 2556 คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะติดตามพัฒนาการของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยอย่างใกล้ชิด โดยพร้อมที่จะดำเนินนโยบายที่เหมาะสมตามความจำเป็น