ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจไทยพาณิชย์ ประเมินแนวทางแบงก์ชาติสกัดเงินไหลเข้า ผ่อนคลายมาตรการลงทุนนอก แทรกแซงค่าบาท และปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย คาดลด 0.50% ในครึ่งปีแรกเหลือ 2.25%
นายพชรพจน์ นันทรามาศ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) (SCB)กล่าวว่า ความผันผวนของค่าเงินบาทที่เกิดขึ้นในช่วงเดือนต้นปีที่ผ่านมา มีสาเหตุหลักจากมีเงินทุนไหลเข้าเป็นจำนวนมาก และเชื่อว่าจะยังมีกระแสเงินทุนไหลเข้าในภูมิภาคเอเชียรวมถึงประเทศไทยอย่างต่อเนื่องตลอดปีนี้ เนื่องจากประเทศเศรษฐกิจหลักยังอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบ ซึ่งส่งผลให้แนวโน้มเงินบาทแข็งค่าขึ้นอยู่ โดย EIC ประเมินว่า ค่าเงินบาทจะแตะ 29.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในสิ้นปีนี้
“ค่าเงินบาทในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่่ผ่านมา ผันผวนมาก และแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะเงินบาทแข็งค่าขึ้นเกือบ 3% ซึ่งอยู่ในระดับที่สูงกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคที่แข็งค่าเฉลี่ย 0.5% ซึ่งในส่วนนี้ผู้ที่กำกับดูแลก็จะต้องหาทางที่จะบริหารจัดการตรงนี้ เพื่อไม่ให้กระทบต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ตลาดการเงิน และตลาดอัตราแลกเปลี่ยนของประเทศ”
ทั้งนี้ EIC ได้ประเมินมาตรการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รับมือกับเงินทุนไหลเข้าไว้ 2 มาตรการ ได้แก่ การผ่อนคายเงินทุนเคลื่อนย้าย เพื่อสนับสนุนให้ภาคเอกชนนำเงินไปลงทุนต่างประเทศเพื่อสร้างสมดุลระหว่างเงินทุนไหลเข้า-ออก การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ทำให้ส่วนของอัตราผลตอบแทนในประเทศกับต่างประเทศน้อยลง และการเข้าแทรกแซงเงินบาท และดูดซับสภาพคล่อง ซึ่งจากภาวะที่อัตราเงินเฟ้อไม่อยู่ในระดับที่่มีแรงกดดันในขณะนี้ จึงคาดว่าในช่วงครึ่งปีแรก ธปท.จะปรับลดดอกเบี้ย 2 ครั้งในไตรมาสแรก และไตรมาสที่ 2 ครั้งละ 0.25% มาอยู่ที่ 2.25%
นอกจากนี้ ธปท. และนักลงทุนควรให้ความสำคัญกับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นเมื่อประเทศเศรษฐกิจหลักหยุดการดำเนินมาตรการอัดฉีดเงิน และดูดซับสภาพคล่องส่วนเกินออกจากระบบในอนาคต
“มาตรการที่ ธปท.ใช้ ไม่ใช่เพื่อหยุดไม่ให้เงินไหลเข้า เรายังต้องการเงินทุนไหลเข้า แต่จะทำอย่างไรที่จะลดปัญหาของเงินทุนที่ไหลเข้าประเทศในจำนวนที่มาก และไม่ให้เสียโอกาสด้วย การลดดอกเบี้ยจะลดแรงกดดันลงจากเงินไหลเข้าได้ระดับหนึ่ง และยังเป็นการลดขาดทุนของ ธปท.จากส่วนต่างดอกเบี้ยจ่าย และดอกเบี้ยรับแคบลง”
คาดเศรษฐกิจไทยโต 4.9%
สำหรับในปีนี้ EIC คาดว่า เศรษฐกิจไทยมีศักยภาพที่จะขยายตัวได้ 4.9% โดยมีการใช้จ่ายภาครัฐซึ่งมีโครงการลงทุนในสาธารณูปโภคต่างๆ รวมถึงการบริหารจัดการน้่ำซึ่งคาดว่าจะมีวงเงินลงทุนรวม 8 แสนล้านบาท และภาคครัวเรือนซึ่งจะมีการคืนภาษีรถคันแรกเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ ขณะที่การส่งออกมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่ำประมาณ 7.5% เนื่องจากเศรษฐกิจในประเทศคู่ค้าหลักที่ยังไม่ฟื้นตัว ส่วนเงินเฟ้อยู่ในระดับ 3%