ธปท.ชี้ญี่ปุ่นออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมด้วยการการอัดฉีดเงินเข้าระบบช่วยให้กำลังซื้อโลกให้ดีขึ้น ทดแทนกำลังซื้อจากจีนที่มีปัญหาหมู่เกาะพิพาท ส่วนค่าเงินบาทแข็งระดับกลางๆ เกาะกลุ่มภูมิภาค ระบุเงินทุนไหลเข้าจากมาตรการผ่อนคลายนโยบายการเงินทั่วโลก เป็นความท้าทายปีหนึ่งในการทำงานของ ธปท.ในปีนี้
นางจันทวรรณ สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลญี่ปุ่นอัดฉีดเงินกว่า 1.1 แสนล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายเพิ่มเติมว่า การอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบอาจจะส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจของญี่ปุ่นไม่มากนัก เพราะประชาชนภายในประเทศมีความต้องการซื้อไม่มาก ทำให้การฟื้นเศรษฐกิจญี่ปุ่นแบบช้าๆ และมองว่า ประเด็นที่ญี่ปุ่นทำให้ค่าเงินเยนอ่อนค่า หรือปล่อยเงินเข้าสู่ระบบไม่ต้องการให้เอเชียมีปัญหา แต่เพื่อปรับโครงสร้างเศรษฐกิจโลกให้ดีขึ้น โดยเฉพาะกำลังซื้อจากยุโรป และสหรัฐฯ
ทั้งนี้ เท่าที่ประเมินมองว่าส่วนหนึ่งของเม็ดเงินที่ปล่อยออกมา เพื่อนำไปลงทุนในกองทุนกลไกรักษาเสถียรภาพยุโรป (ESM) ซึ่งเป็นเงินที่นำไปช่วยเหลือวิกฤตสถาบันการเงินในยุโรป เพื่อให้ปรับโครงสร้างดีขึ้น โดยหากมีเงินเข้าไปช่วยเหลือยุโรปในการแก้ไขปัญหาได้ การค้าโลก และกำลังซื้อยุโรปจะมายังญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น อีกทั้งมีข้อพิพาทหมู่เกาะระหว่างญี่ปุ่นกับจีน ทำให้กำลังซื้อส่วนนี้หายไป จึงมองว่าดีกว่าปล่อยเงินไหลออกเปล่าประโยชน์ จึงควรเข้าไปช่วยเหลือยุโรป และสหรัฐฯ แทนเพื่อดึงกำลังซื้อโลกให้ดีขึ้น
“ในช่วงที่ผ่านมา ส่วนใหญ่นักลงทุนญี่ปุ่นที่ทำธุรกิจในประเทศไทยจะเป็นภาคเศรษฐกิจจริงมากกว่า ฉะนั้น การลงทุนระยะสั้นเข้ามาเก็งกำไรจากนักลงทุนญี่ปุ่นในไทยไม่ค่อยมีมากนัก จึงไม่เหมือนกับประเทศอื่นๆ เพราะไทยกับญี่ปุ่นมีความสัมพันธ์ที่ดีทั้งแง่ของการค้า การลงทุน การขยายกำลังการผลิตมากกว่า” นางจันทวรรณกล่าวและว่า ญี่ปุ่นผ่อนคลายนโยบายการเงินส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโลกในการดึงกำลังซื้อจากยุโรป และส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทยด้วย
ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น 3.5%เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ นับตั้งแต่ต้นปี 55 จนถึงปัจจุบัน ถือว่าอยู่ระดับกลางๆและเป็นไปตามสกุลเงินในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งยังมีบางประเทศอ่อนกว่าเงินบาทไทย และบางประเทศที่แข็งกว่าไทย เช่น เงินเปโซของฟิลิปปินส์แข็งค่า 7.2% ในช่วงเวลาเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าปัจจัยเงินทุนไหลเข้าเพิ่มขึ้นจากมาตราการผ่อนคลายนโยบายการเงินของประเทศต่างๆ ทั่วโลก จึงเป็นความท้าทายอย่างหนึ่งในปีนี้ และเป็นเรื่องที่ธปท.ต้องจับตาอย่างใกล้ชิดต่อไป