รอยเตอร์/เอเอฟพี/เอเจนซีส์/ASTV ผู้จัดการออนไลน์-เศรษฐกิจญี่ปุ่นหดตัว 0.9 เปอร์เซ็นต์ในไตรมาสที่ 3 ซึ่งสิ้นสุดไปเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ถือเป็นการก้าวเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจเป็นครั้งแรกของญี่ปุ่นในรอบ 3 ไตรมาส และถือเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่า เศรษฐกิจของญี่ปุ่นซี่งมีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 3 ของโลกกำลังได้รับผลกระทบจากภาวะชะงักงันของเศรษฐกิจโลก รวมถึงความตึงเครียดเรื่องหมู่เกาะพิพาทในทะเลจีนตะวันออกที่ฉุดรั้งยอดจำหน่ายสินค้าญี่ปุ่นในตลาดจีนให้ร่วงลงอย่างต่อเนื่อง
การหดตัวของจีดีพีในช่วงไตรมาส 3 ถือเป็นข่าวร้ายซ้ำเติมเศรษฐกิจญี่ปุ่น ถัดจากตัวเลขการผลิตของภาคอุตสาหกรรมที่มีการประกาศว่าร่วงลงก่อนหน้านี้ รวมถึงภาวะการใช้จ่ายภาคครัวเรือนที่กำลังย่ำแย่ โดยข้อมูลล่าสุดระบุว่า ตัวเลขการบริโภคภาคเอกชนที่มีสัดส่วนสูงกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ของระบบเศรษฐกิจญี่ปุ่นได้ปรับตัวลดลง 0.5 เปอร์เซ็นต์ ในช่วงไตรมาสที่ 3 เช่นกัน
ยาสุโอะ ยามาโมโตะ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสแห่งสถาบันวิจัยมิซูโฮในกรุงโตเกียว เผยว่า เศรษฐกิจแดนปลาดิบกำลังเผชิญกับมรสุมหลายลูกที่โหมกระหน่ำในเวลาพร้อมๆกัน ทั้งมรสุมจากยอดการส่งออกที่ลดฮวบจากกรณีพิพาทเรื่องหมู่เกาะกับจีน การบริโภค และการจับจ่ายใช้สอยในประเทศที่อ่อนแอลง รวมถึง ปัจจัยภายนอกจากผลพวงของวิกฤตหนี้สินและงบประมาณในยุโรป ที่ส่งผลให้ตัวเลขการส่งออกของญี่ปุ่นก้าวเข้าสู่ภาวะเลวร้ายที่สุดในรอบ 3 ทศวรรษ
นักวิเคราะห์จากหลายสำนักคาดว่า ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) อาจตัดสินใจออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหม่ระหว่างการประชุมนัดต่อไประหว่างวันที่ 19-20 ธันวาคมนี้ แต่หากไม่มีการคลอดมาตรการใหม่ๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและฟื้นฟูความเชื่อมั่น ก็มีความเป็นไปได้อย่างยิ่งที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นอาจต้องเผชิญกับภาวะถดถอยซ้ำอีกในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ ซึ่งจะถือเป็นครั้งแรกในรอบหลายปีที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นจะประสบภาวะหดตัวติดต่อกันถึง 2 ไตรมาส