xs
xsm
sm
md
lg

คาดเงินนอกทะลักเข้าไทยอย่างน้อย 2 ปี แนะใช้มาตรการ ดบ. สกัดเงินทุนไหลเข้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้เชี่ยวชาญ ชี้เม็ดเงินนอกทะลักไทยอย่างน้อย 2 ปี แนะเร่งรัฐบาลเร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และลดการใช้นโยบายประชานิยม นายแบงก์หนุนลดดอกเบี้ยสกัดเงินไหลเข้าควบคู่ไปกับมาตรการหนุนไปลงทุนต่างแดน

นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ประธานกรรมการบริหาร มูลนิธิสถาบันอนาคตไทยศึกษา เปิดเผยว่า ประเทศไทยไม่สามารถหนีปัญหาเรื่องเงินทุนไหลเข้าไม่พ้นอย่างแน่นอน เพราะเวลานี้ ธนาคารกลางประเทศหลักทั่วโลกพิมพ์เงินออกมารวมๆ กันแล้วสูงกว่า 10 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งการจัดการปัญหาในขณะนี้ยังเป็นเพียงการตามแก้ปัญหาเท่านั้น ยังขาดการดำเนินการในการแก้ปัญหาแบบบูรณาการ

“จะเห็นว่าตอนนี้มีหลายเรื่องเข้ามากระทบผู้ประกอบการของไทยค่อนข้างมาก ทั้งเรื่องค่าแรง 300 บาท ค่าเงินบาทที่แข็งขึ้น แต่การแก้ปัญหาของเราก็เป็นแบบการตามแก้ ยังไม่เห็นการจัดการแบบบูรณาการ”

โดยปัจจัยที่เป็นห่วงมากสุดในเวลานี้ คือ งบในการลงทุนของภาครัฐมีน้อยมาก ซึ่งส่วนใหญ่หมดไปกับโครงการประชานิยม และถ้าดูตัวเลขการลงทุนของประเทศไทย ยังเป็นเพียงประเทศเดียวที่สัดส่วนการลงทุนต่อจีดีพีต่ำกว่าช่วงก่อนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ โดยในปี 2540 ประเทศไทยเคยมีสัดส่วนการลงทุนสูงถึง 70% ของจีดีพี

ดังนั้น สิ่งที่จะช่วยได้ คือ รัฐบาลควรต้องตัดงบรายจ่ายประจำออก โดยเฉพาะรายจ่ายที่เกี่ยวข้องกับประชานิยม เพราะทำให้งบที่เหลือไปใช้เพื่อการลงทุนมีน้อยลง

นายศุภวุฒิ สายเชื้อ กรรมการผู้จัดการ ฝ่ายงานวิจัย บล.ภัทร กล่าวว่า ดอกเบี้ยอาจไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่เป็นตัวดึงดูดให้เงินทุนไหลเข้าในประเทศก็จริง แต่ก็มีปัจจัยอื่นๆ ที่ดึงดูดด้วย เช่น เศรษฐกิจที่มีแนวโน้มการเติบโตดี โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว รวมถึงบรรยากาศการลงทุนในขณะนี้ที่ถูกผลักดันให้นักลงทุนกล้าที่จะลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงขึ้น (Risk on) ตลอดจนการเกิดดุลบัญชีเดินสะพัดที่ยังมีอยู่พอประมาณ

ปัจจัยเหล่านี้น่าจะเป็นตัวกดดันให้มีเงินทุนต่างประเทศไหลเข้ามาในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง หรืออย่างน้อยใน 2 ปีข้างหน้า ซึ่งเรื่องนี้ทาง บล.เมอร์ริล ลินช์ ที่เป็นพันธมิตรของ บล.ภัทร ประเมินว่า ค่าเงินบาทไทยมีโอกาสที่จะแข็งค่าขึ้นแตะระดับ 28 บาทต่อดอลลาร์ได้ในปลายปีนี้ และอาจเห็นเงินบาทแตะระดับ 27 บาทต่อดอลลาร์ได้ในปีหน้า

“เวลานี้ที่ธนาคารกลางทั่วโลกทำ คือ กดดอกเบี้ยต่ำ แล้วพิมพ์เงินออกมาเยอะๆ คำถาม คือ เราจะตั้งดอกเบี้ยให้สูงกว่าเขาได้หรือไม่ และทำไปแล้วจะมีความเสี่ยงว่าจะมีเงินทุนไหลเข้ามาหรือไม่ เพราะเราเป็นประเทศเศรษฐกิจเล็กและเปิด มันมีความเสี่ยงตลอดเวลา ถ้าเขามองเศรษฐกิจเราดี ดอกเบี้ยน่าสนใจเงินก็จะยิ่งไหลเข้ามามาก”

นายพชรพจน์ นันทรามาศ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) กล่าวเห็นด้วยกรณีนายวีรพงษ์ รามางกูร ประธานกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เสนอให้ ธปท.ลดดอกเบี้ยเพื่อสกัดฟองสบู่ตลาดหุ้น และตราสารหนี้ แม้ว่า ธปท.จะมี 3-4 มาตรการที่สนับสนุนให้เอกชนนำเงินไปลงทุนต่างประเทศ หรือสนับสนุนในการลดแรงกดดันการแข่งค่าของเงินบาท

ทั้งนี้ คงต้องยอมรับว่าส่วนต่างดอกเบี้ยระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ต่างกันมาก ถือเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้มีเงินเคลื่อนย้ายเข้ามาลงทุนในตลาดตราสารหนี้ และตลาดหุ้นไทยเพื่อทำกำไรส่วนต่างจากดอกเบี้ย

“การลดดอกเบี้ยน่าจะสามารถทำควบคู่ไปกับมาตรการลดแรงกดดันเงินบาทแข็งค่าของ ธปท. เพราะแรงกดดันเงินเฟ้อในปีนี้น่าจะไม่รุนแรง หากเป็นไปตามกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่ ธปท.คาดว่าเงินเฟ้อในปีนี้จะอยู่ที่ 2.8% การลดดอกเบี้ยไม่น่าจะมีให้เงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้นมากนัก”

นอกจากนี้ ธปท. ควรเข้าไปดูแลความผันผวนของค่าเงินบาท เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการส่งออก เพราะต้องยอมรับว่าตั้งแต่ต้นปีค่าเงินบาทแข็งค่ามากเมื่อเทียบกับคู่แข่ง โดยตั้งแต่ต้นปีค่าเงินบาทแข็งค่าประมาณ 2-3% ขณะที่คู่แข่งแข็งค่าไม่ถึง 1% ซึ่งทำให้ความสารถการแข่งขันส่งออกของไทยเสียเปรียบ

ส่วนเงินทุนไหลเข้าที่มาเก็งกำไรผ่านตลาดตราสารหนี้ ที่ขณะนี้ส่วนใหญ่เข้ามาพักในตราสารหนี้ระยะสั้น นายพชรพจน์ มองว่า ไม่น่ากังวลเท่ากับการที่ค่าเงินบาทแข็งค่าสูงกว่าคู่แข่ง เพราะกระทบกับการส่งออกของไทย
กำลังโหลดความคิดเห็น