เปิดประเด็นเร่งด่วนที่ประเทศไทยต้องตัดสินใจทำในวันนี้ เพราะมีผลสำคัญต่ออนาคต ระดมสมอง 5 ผู้บริหารระดับแนวหน้าของไทย ชี้ 3 ทิศทางหลัก 1. สร้างและใช้โอกาสที่กำลังเกิดขึ้นจากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปทั้งภายในและนอกประเทศ 2. กระบวนการเสริมสร้างและพัฒนาของดีหรือจุดแข็งที่ไทยมีอยู่ให้สามารถเพิ่มมูลค่าทั้งในประเทศและเวทีโลกได้ดีขึ้น 3. การศึกษาเป็นหัวใจสำคัญ ต้องคิดและพัฒนาคนเป็นรากฐานเติบโตระยะยาว
จากงานสัมมนา “Thailand Future Forum” โดยสถาบันอนาคตไทยศึกษา ในหัวข้อ “Thailand at the Crossroads : อนาคตไทย....เราเลือกได้” ซึ่งมีผู้บริหารระดับแนวหน้าของไทย 5 คนเข้าร่วม เริ่มด้วย อิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการ บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด กล่าวว่า เพื่ออนาคตที่ดีของประเทศไทย สิ่งที่อยากจะเห็นเรื่องแรกคือ การปรับปรุงความรับผิดชอบของภาครัฐ หรือควรจะเปลี่ยนโครงสร้างการดูแลของรัฐ
โดยเฉพาะการเข้ามาใกล้ชิดกับภาคเกษตร ดูจริงๆ ว่าปัญหาอยู่ที่ไหน เช่น ปัจจุบันมีการกระจายการดูแลในหลายส่วน กระทรวงพาณิชย์ดูแลการขายข้าว แต่ถ้าข้าวคุณภาพไม่ดีก็ขายไม่ได้ หรือกระทรวงอุตสาหกรรมดูแลอ้อยน้ำตาล ขณะที่กระทรวงเกษตรฯ ไม่มีงบประมาณทำให้ดูแลเรื่องพันธุ์ไม่ได้ ฯลฯ
เรื่องที่สอง ภาครัฐควรจะเข้ามาดูแลภาคธุรกิจของไทยให้แข็งแรง เพราะเมื่อธุรกิจมีกำไรก็จะยังอยู่ในประเทศไทย แม้ว่าจะมีการขยายงานหรือลงทุนเพิ่ม ภาครัฐจึงไม่ต้องกังวลเรื่องรั่วไหล สำหรับธุรกิจเกษตรหากรัฐทำให้แข็งแรง ต่อไปจะสามารถไปหาเงินจากต่างประเทศเข้ามาได้
เรื่องที่สามระบบการศึกษา ในภาคการศึกษาของไทยปัจจุบันมีคนรุ่นใหม่จำนวนมากมีความรู้สูงและจบการศึกษาจากต่างประเทศ แต่โอกาสการพัฒนาตนเองหรือการต่อสู้ยังไม่มากพอ ดังนั้น คิดว่าภาคการศึกษาต้องร่วมกับภาคเอกชน ด้วยการทำสหกิจศึกษาซึ่งเป็นเรื่องดีจริงๆ โดยต้องเริ่มจากอาจารย์เพื่อให้เข้าใจและรู้ความต้องการของธุรกิจในแต่ละเซกเตอร์ ส่วนเอกชนต้องเข้าใจว่าภาคการศึกษาไม่ได้เข้ามาเพื่อฝึกงานอย่างเดียว แต่เข้ามาดูว่าจะปรับปรุงหรือทำให้ภาคธุรกิจดีขึ้นได้อย่างไรด้วย เพราะฉะนั้น ถ้ารัฐดูเรื่องการศึกษาให้ทั่วถึงและเข้าถึงภาคเอกชนจริงๆ ศักยภาพของบุคลากรจะไปได้เร็วมาก
ชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) มองว่า เรื่องแรกคือ ช่วงเวลานี้เป็นโอกาสดีของธุรกิจไทยในการขยายธุรกิจไปต่างประเทศด้วยการใช้ความได้เปรียบของตนเองและความได้เปรียบของท้องถิ่นในประเทศต่างๆ ที่เข้าไป ถ้าประเทศไทยมองว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของโกลบอลซัปพลายเชน และดึงกลับมาในประเทศไทย ประเทศไทยจะมีการเติบโตต่อไปได้ ซึ่งจะเป็นจุดดึงดูดให้คนอื่นมาลงทุนในไทยด้วย มีหลายบริษัทที่มีความสามารถ เช่น กลุ่มเซ็นทรัล ไทยยูเนี่ยนฯ มิตรผล บ้านปู ฯลฯ
เรื่องที่สองคือ การลงทุนต่างๆ ของภาครัฐที่กำลังดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน ถ้าโครงการต่างๆ เหล่านี้สำเร็จได้อย่างมีประสิทธิภาพจะทำให้เกิดการเชื่อมโยงกับภูมิภาคนี้และอาจจะทำให้เราสามารถลดต้นทุนหลายอย่าง ซึ่งจะเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของเรา หากสิ่งนี้เกิดได้จะทำให้พื้นฐานของประเทศปรับสูงขึ้นอีกระดับ และนำมาซึ่งอุตสาหกรรมอื่นๆ นอกจากอุตสาหกรรมที่เป็น structure เช่น ยานยนต์ อาหาร ปิโตรเคมี และท่องเที่ยว ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมสำคัญ และการลงทุนของภาครัฐจะทำให้เกิดการเชื่อมโยงต่างๆ
เรื่องที่สามคือ ทิศทางที่จะทำอย่างไรให้สามารถสร้างผู้ประกอบการได้มากๆ มีผู้ประกอบการรายใหญ่จำนวนมากเป็นธุรกิจครอบครัวที่สามารถใช้วิทยาการต่างๆ เข้ามาผสมผสาน ซึ่งผู้ประกอบการต่างๆ เหล่านี้เป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างดี
ศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) มีมุมมองถึงอนาคตของประเทศไทยในเรื่องแรกว่า ทำอย่างไรให้สามารถเสริมจุดแข็งและลดจุดอ่อนของประเทศไทยในเรื่องต่างๆ สำหรับจุดแข็งที่มีอยู่แล้ว เช่น เกษตร ท่องเที่ยว ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ ฯลฯ เพราะเป็นสิ่งที่ประเทศไทยส่งมอบคุณค่าให้กับโลกอยู่แล้ว แต่จะทำอย่างไรให้เพิ่มขึ้นไปอีก
เรื่องที่สองคือ ตั้งเป้าหมายให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านเศรษฐกิจของอาเซียน ซึ่งไม่ได้คิดเพียงมิติของประเทศไทย แต่คิดถึงมิติของเพื่อนบ้านด้วย และเป็นมิติของความร่วมมือที่จะเติบโตไปด้วยกัน เพราะมีการศึกษาเศรษฐกิจอาเซียนใน 15 ปีข้างหน้าว่าจะมีขนาดใกล้เคียงกับโลกตะวันตก ด้วยจำนวนของประชากรที่มีมาก ในปัจจุบันมีถึง 500 กว่าล้านคนแล้ว ถึงตอนนั้นอาจจะมี 600-700 ล้านคน ทำให้เห็นว่าประเทศไทยมีฐานเศรษฐกิจที่จะเติบโตได้ รวมทั้งจุดยืนที่มีต่อประเทศจีนและอินเดีย และน่าจะทำให้ประเทศไทยได้คิดถึงปัจจัยโครงสร้างพื้นฐานในแต่ละด้าน
เรื่องที่สามคือ การศึกษากับจริยธรรมซึ่งต้องควบคู่กันไป หมายความว่าถ้าไทยเป็นศูนย์กลางในเรื่องการศึกษา ค้นคว้าวิจัย เทคโนโลยี ฯลฯ ถ้าสามารถดึงคนเก่งจากภาคพื้นเอเชียหรือแม้กระทั่งจากทั่วโลก ซึ่งประเทศไทยน่าอยู่อยู่แล้ว จึงคิดว่าในระยะยาวน่าจะทำให้ประเทศไทยสามารถสร้างคุณค่าและยืนอยู่ในสังคมโลกได้อย่างยั่งยืน และเรื่องสุดท้ายคือความมั่นคงด้านการเมือง เพราะเป็นอีกส่วนสำคัญที่จะทำให้ประเทศไทยเติบโตไปได้ด้วยดี
ทศ จิราธิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เซ็นทรัลรีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า สิ่งที่คิดตรงกันคือเออีซีเป็นโอกาสทองของไทยที่จะสร้างประเทศให้เจริญ มีรายได้ให้ประชาชนอยู่ดีกินดีได้ในอนาคต โดยมองว่าต่อไปจะเห็นประเทศในอาเซียนเหมือนกับประเทศในยุโรป ไม่ว่าจะเป็น อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี ฯลฯ ซึ่งทุกอย่างเชื่อมโยงกันหมดเหมือนเป็นภูมิภาคเดียวกัน แต่ที่สำคัญคือยุโรปเติบโตมาพร้อมๆ กัน ความเจริญจึงค่อนข้างใกล้เคียงกัน รายได้ต่อหัวของประชากรไม่ต่างกันมากนัก
สำหรับอาเซียนความเจริญต่างกันมากเนื่องจากระบอบการปกครองที่ต่างกันทำให้กลายเป็นว่าประเทศไทยค่อนข้างโดดเด่นที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับพม่า เขมร เวียดนาม และลาว ส่วนสิงคโปร์กับมาเลเซียซึ่งเจริญกว่าไทย แต่เพราะประชากรน้อยจึงไม่ค่อยมีอำนาจพอ ขณะที่ อินโดนีเซียยังล้าหลัง และเมื่อมาเป็นภูมิภาคเออีซีจะต้องทำให้เป็นตลาดเดียวกัน ให้เป็นพลเมืองอาเซียนด้วยกัน ให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางในเกือบทุกอุตสาหกรรม สามารถผลักดันให้เกิดการขยายตัวได้จริงๆ สร้างการลงทุน สร้างรายได้ให้ประชาชนในภูมิภาค โดยมีการค้าขายกันอย่างจริงจัง
เรื่องแรกจึงอยากจะเห็นอย่างมากว่ารัฐบาลให้เรื่องนี้เป็นปัจจัยสำคัญหรือเป็นหัวข้อในการบริหารประเทศ และร่วมมือกับฝ่ายเอกชนอย่างจริงจัง รวมทั้งนักวิชาการทั้งหลายมาระดมสมองกันว่าจะทำอย่างไรให้ไทยเป็นศูนย์กลางในเรื่องต่างๆ ให้ได้ ซึ่งเป็นไปได้ทุกอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นค้าปลีก เทเลคอมฯ อุตสาหกรรมหนักต่างๆ รวมทั้งเอสเอ็มอี
ตัวอย่างง่ายๆ เช่น อุตสาหกรรมบริการ ไม่ว่าจะเป็น โรงแรม โรงพยาบาล โรงเรียน หรือศูนย์การค้า ถ้ามีที่ดิน 2,000-3,000 ไร่ ที่ย่างกุ้งหรือฮานอย แล้วนำเอกชนไทยทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นนักพัฒนาที่ดิน และนักธุรกิจต่างๆ ไป ก็จะสามารถเกิดเป็นเมืองได้ทันที ซึ่งเมื่อเข้าไปแล้วจะสามารถต่อยอดในนั้นได้ถ้ารวมพลังกัน ขณะที่ประเทศนั้นจะได้ประโยชน์ด้วยคือได้เมืองใหม่ขึ้นมาทันทีใน 5 ปี หรือส่งเสริมผู้ประกอบการเอสเอ็มอีของไทยซึ่งส่วนมากยังมีข้อจำกัดทั้งในเรื่องการลงทุน การผลิต ฯลฯ เพราะมีความเสี่ยงมาก แต่หากมีโครงสร้างพื้นฐาน เช่น มีโรงงานให้ เอสเอ็มอีจะสามารถไปผลิตและขายที่นั่น
“จึงคิดว่าประเทศไทยมีโอกาสและความได้เปรียบหากจะเป็นศูนย์กลางจริงๆ ถ้าประเทศไทยผลักดันได้ดี ในอนาคตภูมิภาคนี้จะเจริญทั้งหมด อาเซียนต้องมีรายได้เท่ากับประชาคมยุโรปให้ได้ นี่คือเรื่องแรกที่สำคัญ”
เรื่องที่สอง คือการศึกษาซึ่งพูดกันมากแล้ว และคิดเช่นเดียวกันว่าสำคัญ แต่ถามว่าเรื่องไหนการศึกษาสำคัญหากให้เลือกเรื่องเดียว ขอเลือกเรื่องภาษา อยากเห็นทุกฝ่ายช่วยกันผลักดันให้เด็กไทยพูดได้อย่างน้อย 2 ถึง 3 ภาษา เพราะวันนี้ภาษาเดียวไม่มีทางแล้วที่จะไปค้าขายกับคนในโลก ไม่ว่าจะเป็นภาษาอังกฤษ จีน เวียดนาม พม่า ฯลฯ เพราะปัจจุบันเห็นแล้วว่าคนที่พูดได้มากกว่า 1 ภาษาส่วนมากรายได้ดีกว่าภาษาเดียว และถ้าไปต่างประเทศโดยพูดภาษาเขาได้ การทำธุรกิจจะง่ายกว่ากันมาก เพราะสุดท้ายการสื่อสารและการเรียนรู้เป็นสิ่งสำคัญซึ่งภาษาเป็นเครื่องมือ
“เพราะสิ่งที่กังวลหรืออยากเห็นคือนอกจากจีดีพีของประเทศไทยจะเติบโต รายได้ของคนไทยในระดับล่างต้องเติบโตด้วย ไม่เช่นนั้นจะเกิดปัญหาสังคมมากมายในอนาคต”
เรื่องที่สาม คือการฝึกอบรมทุกอย่างต้องเน้นไปที่คุณภาพทั้งหมด ซึ่งจะทำให้คนเหล่านี้ทำงานได้ทั่วโลกโดยมีรายได้ที่ดี เพราะทุกวิชาชีพในเมืองไทยมีของดีมากมาย เช่น เชฟไทย สปาไทย หรือมวยไทยที่ตอนนี้ทั่วโลกใช้ในการออกกำลังกาย หมายความว่านักมวยไทยสามารถกลายเป็นเทรนเนอร์ได้ทั้งหมด แต่เพื่อเป็นการสร้างแบรนด์อย่างถูกต้องให้คนต่างชาติรับรู้ และเพื่อสร้างสรรค์คุณค่าให้คนไทยมีรายได้สูงขึ้น ต้องพัฒนาคนไทยให้ไปสู่ระดับโลก โดยมีสถาบันรองรับ ให้มีคุณภาพจริงๆ
ธีรพงศ์ จันศิริ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน โฟรเซ่น โปรดักส์ จำกัด (มหาชน) มองว่ามีเรื่องมากมายที่ประเทศไทยต้องทำ จึงอยากเห็นการจัดลำดับความสำคัญและเลือกเรื่องที่มีผลกระทบที่ดีต่อประเทศไทย โดยมียุทธศาสตร์ มีแผนงานที่ชัดเจน มีผู้รับผิดชอบที่ชัดเจน มีระยะเวลาที่ชัดเจน และมีความคาดหวังที่ชัดเจน เพื่อจะช่วยให้ไปสู่ความสำเร็จได้ อยากให้ทุกคนเห็นว่าปัญหาต่างๆ เป็นความท้าทายของประเทศไทย
“ในช่วง 15 ปีผมมีโอกาสเห็นประเทศต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น อเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น ทั้งช่วงที่รุ่งเรืองที่สุดจนถึงตกต่ำที่สุด จากที่แย่ก็กลับมาฟื้นตัว ประเทศคู่แข่งของไทย ไม่ว่าจะเป็น ในเอเชีย หรืออเมริกาใต้ สำหรับอุตสาหกรรมอาหาร ประเทศไทยยังมีเสน่ห์ ผมเชื่อมั่นในพื้นฐานของประเทศไทย ความสามารถในการแข่งขันและความคิดที่ค่อนข้างดีของผู้ประกอบการไทย”
ความท้าทายของประเทศไทยคือทำอย่างไรที่จะร่วมมือกันไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือเอกชนที่จะนำประเทศไทยไปสู่อีกระดับหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นในระดับภูมิภาคหรือระดับโลก ขณะที่เอสเอ็มอีและเอกชนมีความจำเป็นต้องพัฒนาขีดความสามารถอย่างต่อเนื่อง โดยไม่เน้นการขอพึ่งพาความช่วยเหลือมากเกินไป ต้องช่วยตนเองเพื่อให้แข็งแกร่งมากที่สุด มุมมองของผู้ประกอบการไทยวันนี้ ต้องไม่มองภายในประเทศเท่านั้น แต่ต้องมองระดับภูมิภาคหรือระดับโลก
“วันนี้ไม่มีทางเลือกเพราะไทยกำลังเปิดประเทศ ถ้าเราไม่พยายามพัฒนาตัวเองออกไป คู่แข่งจากนอกประเทศจะเข้ามา คิดว่าวันนี้เป็นโอกาสที่ดีทื่สุดสำหรับประเทศไทย อย่างน้อยในช่วงอายุการทำงานของผมไม่เคยเห็นโอกาสของประเทศไทยในการไปลงทุนต่างประเทศมากเท่าปัจจุบัน โดยเฉพาะอเมริกาและยุโรป เพราะภาคเอกชนของเขาที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกับเราไม่เคยอ่อนแอแบบนี้มาก่อน เพราะการแข่งขันอย่างเดียวไม่สามารถทำให้คู่แข่งอ่อนแอได้ ต้องมีปัจจัยลบที่กระทบอย่างหนักหลักๆ อย่างเรื่องเศรษฐกิจเช่นวันนี้ จึงจะทำให้เกิดโอกาสอย่างมาก”
“นอกจากนี้ ยังเห็นภูมิภาคเออีซี และอเมริกาใต้ ซึ่งมีกำลังซื้อค่อนข้างมากและเติบโตค่อนข้างสูง รวมทั้งแอฟริกาใต้ จากประเทศยากจนกลับมีอัตราการเติบโตสูงมากที่สุดในวันนี้เพราะการมีทรัพยากรต่างๆ เช่น แร่ธาตุ พลังงาน ดังนั้น วันนี้เป็นโอกาสของเรา ขึ้นกับว่าเราจะนำสิ่งเหล่านี้มาทำประโยชน์มากที่สุดได้แค่ไหน”