ธปท. แถลงทิศทางนโยบายประจำปี 56 เน้นรักษาสมดุลเศรษฐกิจ “ประสาร” เปรียบเปรยภาวะ ศก.ไทยปัจจุบัน เปรียบเหมือนเรือแล่นผ่านมรสุมใหญ่ไปแล้ว แต่คลื่นลมยังแรง อาจเจอพายุในน่านน้ำข้างหน้า ลั่นไม่ประมาทถ้าพบเหตุผิดปกติก็ไม่ลังเลที่จะใช้มาตรการที่เตรียมไว้ ยืนยันเน้นดูแลอัตราแลกเปลี่ยนตามกลไกตลาด
นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงทิศทางการดำเนินนโยบายของ ธปท.ในปี 2556 โดยระบุว่า ต้องรักษาสมดุลการเติบโตของเศรษฐกิจ และเสถียรภาพของระบบการเงิน โดยการดูแลเงินทุนเคลื่อนย้าย และความผันผวนของค่าเงินบาท ธปท. มีการติดตามการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างใกล้ชิด โดยมีเครื่องมือใช้ตามความเหมาะสม และไม่ลังเลหากจำเป็นต้องใช้ มีทั้งมาตรการป้องปรามหากพบว่ามีเจตนาชี้นำตลาด โดย ธปท.ยังอยากให้การเคลืิ่อนไหวของค่าเงินบาทเป็นไปตามกลไกตลาด ซึ่งคงไม่เปิดเผยในรายละเอียด แต่จะดูแลให้เกิดความพอดี โดย ธปท. ไม่นำผลขาดทุนจากการแทรกแซงมาเป็นอุปสรรคในการดูแลค่าเงินบาท
นอกจากนี้ ยังมีมาตรการผ่อนคลายเงินทุนออกไปลงทุนต่างประเทศ ซึ่งช่วยสร้างความสมดุลค่าเงินบาทได้มาก โดยในปี 2555 เอกชนไทยไปลงทุนโดยตรงในต่างประเทศ 11,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนนักลงทุนต่างประเทศ ลงทุนในไทย 8,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่นักลงทุนไทยลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ 8,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และต่างชาติลงทุนในหลักทรัพย์ และพันธบัตรไทย 12,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งช่วยรักษาสมดุลได้ดีพอควร ทำให้ ธปท. ไม่จำเป็นต้องแทรกแซงมากนัก ซึ่งในอนาคตกลุ่มธุรกิจจะขยายการลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น ซึ่งจะเกิดผลดีต่อความสามารถการแข่งขันของไทยในอนาคต และได้ใช้ประโยชน์จากการแข็งค่าของเงินบาท
ผู้ว่า ธปท. ยังกล่าวว่า การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทในต้นปี 2556 แม้จะแข็งค่าขึ้นร้อยละ 5-6 แต่ยังเป็นไปในทิศทางเดียวกับเงินริงกิตมาเลเซีย เปโซฟิลิปปินส์ ซึ่งยอมรับว่าการเคลื่อนไหวของเงินบาทในระยะสั้นอาจจะแข็งค่าไปบ้าง แต่หากดูพื้นฐานเศรษฐกิจของไทย และประเทศเพื่อนบ้านมีการเคลื่อนไหวสอดคล้องกันในช่วง 1-2 ปี
ส่วนการดำเนินนโยบายการเงินที่กำหนดอัตราดอกเบี้ยต่ำนานเกินไป อาจจูงใจทำให้เอกชนก่อหนี้สินมากเกินควร กระตุ้นให้ผู้ฝากเงินไปลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยง อาจสร้างความไม่สมดุล และเกิดปัญหาฟองสบู่ ดังนั้น การดำเนินนโยบายการเงินต้องสมดุล และดูแลการขยายตัวของสินเชื่อส่วนบุคคล และหนี้ภาคครัวเรือนในกลุ่มที่มีรายได้ต่ำอย่างใกล้ชิด
ส่วนในภาคสถาบันการเงิน จะมีการกำหนดกรอบใบอนุญาตให้แก่ธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศที่จะเข้ามาดำเนินการในไทย คาดว่าจะเริ่มให้ใบอนุญาตในต้นปี 2557 และจะกำหนดกรอบการเจรจาเพื่อให้ธนาคารพาณิชย์ไทยสามารถขยายธุรกิจตามการเปิดเสรี Qualified ASEAN Bank ภายใต้ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และขยายบทบาทให้ธนาคารพาณิชย์ และนอนแบงก์ให้บริการไมโครไฟแนนซ์