บิ๊กกรมบังคับคดีวางเป้าปีงบประมาณ 56 ผลักดันทรัพย์เกือบ 60,000 ล้านบาท พร้อมปรับปรุงหลักเกณฑ์ขายทอดตลาดใหม่ วางหลักประกันเพิ่มขึ้น 5-10% กันประวิงคดีวางเพิ่มอีก 30-40%
ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฎ์ วิศิษฎ์สรอรรถ อธิบดีกรมบังคับคดี กล่าวถึงผลการผลักดันเงินเข้าสู่ระบบช่วงไตรมาสแรก (ต.ค.-ธ.ค.2555) ว่า ทางกรมฯ ทำได้ถึง 11,764 ล้านบาท โดยจ่ายเป็นเงินจำนวน 2,591 ล้านบาท และเป็นการชำระหนี้ภายนอก ส่วนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทสามารถถอนการบังคับคดีไปได้ 9,172 ล้านบาท ขณะเดียวกัน ยังมีสำนวนคดีที่จะดำเนินการเสร็จพร้อมจ่ายเงินให้แก่คู่ความในไตรมาสแรกอีก 15,434 คดี อย่างไรก็ดี ในปีงบประมาณ 2556 กรมฯ ตั้งเป้าในการผลักดันทรัพย์ในปีนี้ที่ประมาณ 50,000-60,000 ล้านบาท
อย่างไรก็ดี หลังจากที่กรมบังคับคดีได้มีการประกาศบังคับใช้กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขายทอดตลาด (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2555 ไปเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2555 ซึ่งได้มีการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ในการกำหนดราคาเริ่มต้น โดยราคาเริ่มต้นจะเท่ากับราคาประเมินอ้างอิง หากไม่มีผู้เข้าสู้ราคา เจ้าพนักงานบังคับคดีจะปรับลดราคาเริ่มต้นลงร้อยละ 10 ของราคาดังกล่าวสำหรับการขายแต่ละครั้ง แต่ราคาเริ่มต้นจะไม่น้อยกว่า 70% ของราคาประเมินอ้างอิง ทั้งนี้ การขายแต่ละครั้งจะห่างกัน 3 สัปดาห์ ส่งผลให้ในช่วง 6 เดือน(ก.ค.-ธ.ค.2555) กรมฯ สามารถขายตลอดตลาดคดีแพ่งได้รวมประมาณ 8,800 ล้านบาท มากกว่าในช่วงระยะเวลา 11 เดือนที่มีการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับแรกซึ่งขายได้เพียง 2,900 ล้านบาท
แต่ถึงกระนั้น แม้กฎกระทรวงฉบับนี้จะสามารถผลักดันทรัพย์ออกสู่ระบบตลาดมากขึ้น ก็ยังพบอุปสรรค ซึ่งทางกรมฯเตรียมเสนอร่างกฎกระทรวงฉบับที่ 3 ต่อกระทรวงยุติธรรม โดยจะเสนอให้มีการปรับปรุงการวางหลักประกันก่อนเข้าเสนอราคาให้มีความสะดวกรวดเร็วมากขึ้น รวมถึงสร้างความชัดเจนในขั้นตอนของการเรียกเงินส่วนต่างตาม ม.516 แห่ง ป.พ.พ. กับผู้ซื้อเดิมที่ไม่ชำระราคาส่วนที่เหลือ ทั้งนี้ เพื่อป้องปรามการประวิงคดีอันจะช่วยให้กระบวนการบังคับคดีดำเนินไปอย่างยุติธรรม
“ทั้งนี้ กรมฯ จะเสนอให้มีการวางมัดจำ หรือวางหลักประกันเพิ่มขึ้น 5-15% ตามช่วงระดับราคาทรัพย์ เช่น ไม่เกิน 1ล้านบาท ต้องวางเท่าไร เกิน 1 ล้านบาท ไม่เกิน 5 ล้านบาท ต้องวางหลักประกันเท่าไร เป็นต้น และจะปรับเพิ่มขึ้นเป็น 30-40% กรณีประวิงคดี รวมทั้งกรณีที่มีเจตนาสื่อ หรือส่อในการฮั้ว ซึ่งจะมีการแก้ไขกฎหมายเอาผิดทางอาญาเช่นเดียวกับการฮั้วประมูลงานของทางราชการ ซึ่งกรมฯ จะเสนอร่างฯ ฉบับที่ 3 ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมได้ในเดือนมกราคมนี้ หลังจากนั้น จะใช้เวลาดำเนินการตามขั้นตอนประมาณ 3-4 เดือน คาดว่าจะประกาศบังคับใช้ได้ประมาณกลางปีนี้”