“กิตติรัตน์” สั่ง “สศค.” ศึกษา “ข้อดี-ข้อเสีย” โครงการสางหนี้นอกระบบ พร้อมเดินหน้าโครงการที่ดี และมีประสิทธิภาพ ปิ๊งไอเดียตั้งธนาคารในอำเภอห่างไกล
นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.การคลัง เปิดเผยถึงความคืบหน้าเกี่ยวกับการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบของรัฐบาล ว่า ตนได้ให้นโยบายแก่สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) โดยให้กลับไปทบทวนโครงการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบที่เคยดำเนินการก่อนหน้านี้ เพื่อดูว่าได้ผลแค่ไหน อย่างไร ข้อดี-ข้อเสียของแต่ละโครงการเป็นอย่างไร และโครงการใดบ้างที่ควรปรับปรุงเพื่อให้มีประสิทธิภาพการดำเนินงานที่ดีขึ้น
ทั้งนี้ ส่วนตัวเห็นถึงปัญหาหนึ่งที่จำเป็นต้องเร่งแก้ไขให้จบโดยเร็ว นั่นคือ กรณีที่ประชาชนมาขึ้นทะเบียนเพื่อเข้าร่วมโครงการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบซึ่งมีจำนวนมาก แต่กลับเข้าสู่กระบวนการแก้ปัญหาที่แท้จริงน้อยมาก ซึ่งตนอยากเห็นเหตุผลที่แท้จริงในส่วนนี้ว่าเกิดจากสาเหตุใด โดยเบื้องต้นทราบว่า ส่วนหนึ่งมาจากการบอกยอดหนี้สินไม่ตรงกับความเป็นจริง หรือบางส่วนคิดว่าแค่มาลงทะเบียนในโครงการดังกล่าวก็จะได้เงินกลับไปทันที
“ผมยังเชื่อมั่นว่าโครงการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบที่อดีต รมว.การคลังคนก่อนๆ ได้ดำเนินการมานั้นยังมีประสิทธิภาพอยู่ ซึ่งก็ได้ให้นโยบาย สศค. ไปดูว่าแต่ละโครงการได้ผลแค่ไหน ผมพร้อมสนับสนุนเต็มที่ ส่วนโครงการไหนถ้าพบว่าควรมีการปรับปรุงอย่างไรก็อยากให้ชี้แนะมา ผมก็พร้อมดำเนินการต่อในทุกโครงการที่เป็นประโยชน์”
นอกจากนี้ มองว่าอาจมีความจำเป็นที่จะต้องกลับไปทบทวนนโยบายการให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐมีการขยายสาขาไปยังพื้นที่ชนบท โดยเฉพาะในบางอำเภอที่ไม่มีสถาบันการเงินตั้งอยู่เลย ซึ่งในส่วนนี้ ทำให้เป็นปัญหาเรื่องการเข้าถึงแหล่งเงินในระบบอย่างมาก โดยยอมรับว่า นโยบายดังกล่าวเป็นเรื่องในอดีต แต่ตนคิดว่าเป็นเรื่องที่ดี ยังมีบทบาท และความจำเป็นที่จะต้องนำมาดำเนินการต่อ โดยปัจจุบัน ประเทศไทยมีอำเภอทั้งสิ้นราว 800 อำเภอ และต้องยอมรับว่า มีหลายอำเภอซึ่งหากเห็นตัวเลขแล้วอาจตกใจได้ว่ายังไม่มีสถาบันการเงินตั้งอยู่เลย โดยเรื่องนี้เป็นเรื่องที่น่าสนใจ ขณะที่สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ไปจนถึงธนาคารพาณิชย์ทั่วไปควรตระหนักถึงบทบาทในการให้บริการ